เนื่องจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีปณิธานมุ่งมั่นที่จะสร้างนิสิตให้มีความเพียบพร้อมทางด้านความรู้และความสามารถควบคู่ไปกับคุณธรรม เพื่อให้บัณฑิตมีคุณภาพต่อไป อันจะสามารถก่อประโยชน์ให้แก่สังคมและตนเองได้จึงจำเป็นต้องเตรียมหรือเสริมสร้างให้นิสิตมีสุขภาพจิตที่ดีเพื่อพร้อมในการทำงานให้บรรลุตามปณิธาน
นิสิตโดยทั่วไปแล้วมีโอกาสเกิดความเครียดได้จากทั้งการเรียน การทำวิจัย และความเครียดจากการปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น ทั้งจากอาจารย์ที่ปรึกษา อาจารย์อื่นที่เกี่ยวข้อง เจ้าหน้าที่ในห้องปฏิบัติการ เพื่อน รุ่นพี่ และรุ่นน้อง ปัญหาความเครียดดังกล่าวเป็นผลมาจากวิธีการมองโลก การรับรู้ ความคาดหวัง ความปรารถนา ความเป็นตัวตนของตนเอง (self)และการตอบสนองต่อการรับรู้ซึ่งเป็นรูปแบบที่ปลูกฝังมาแต่อดีตจนเป็นนิสัยของจิต โครงการจึงนี้มุ่งเน้นที่การฝึกทำความเข้าใจโลกภายในของตัวนิสิตเอง การมีปฏิสัมพันธ์กับบุคคลรอบข้างตลอดจนเป็นพื้นฐานของการทำจิตบำบัดหรือการให้คำแนะนำปรึกษาต่อไป โดยใช้แนวทางของ Satir’s model
การรู้จักและเข้าใจโลกภายในของตนเองจึงเป็นแนวทางในการพัฒนาไปสู่การรับรู้สิ่งต่างๆตามความเป็นจริง การเปลี่ยนแปลงจากแง่ลบสู่แง่บวกสามารถดึงศักยภาพภายในของตนที่มีอย่างไม่จำกัดออกมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และเกิดการเติบโตของจิตใจอย่างเหมะสม
Satir’s model เป็นชื่อย่อที่เรียกกันติดปากของผู้ที่ใช้จิตบำบัดแนวSatirชื่อเต็มคือ Satir Transformational Systemic Therapy (STST) ซึ่งมีความเชื่อพื้นฐานว่า การเปลี่ยนแปลงเป็นไปได้เสมอและมีความเป็นไปได้อย่างไม่สิ้นสุดในการจะเปลี่ยนแปลงชีวิตตนเองให้ดีขึ้น ใน Satir’s model จะใช้รูปภูเขาน้ำแข็งเป็นตัวแทนของจิตใจ โดยแบ่งออกเป็นชั้นต่างๆ ตามส่วนของจิตใจเพื่อทำให้จิตใจที่เป็นนามธรรม กลับกลายเป็นรูปธรรมมากขึ้น เพื่อง่ายต่อการศึกษา การเข้าใจและการช่วยเหลือผู้ป่วยได้ดีขึ้น
Satir กล่าวไว้ว่าคนที่มีปัญหาด้านจิตใจหรือความทุกข์ใจเกิดจากขาดความรู้ความเข้าใจในธรรมชาติความเป็นคนของตนเองและอาจเกิดจากการเรียนรู่ที่ไม่ถูกต้องในอดีต ดังนั้นการแก้ไขปัญหาที่เกิดจากการเรียนรู้ที่ไม่ถูกต้องจึงสามารถเรียนรู้ใหม่ได้เสมอ ด้วยการช่วยให้บุคคลเป็นคนให้มากขึ้นและพัฒนาศักยภาพภายในของตนให้ได้อย่างเต็มที่
|