1. ชื่อโครงการ
จิตเวชศาสตร์ชุมชน กิจกรรมยาใจมหัศจรรย์ เติมพลังให้น้อง
2. ผู้รับผิดชอบโครงการ
นิสิตปริญญาโท ชั้นปีที่ 2 ภาคในเวลาราชการ หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต
สาขาสุขภาพจิต ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
3. หลักการและเหตุผล
การศึกษานับเป็นส่วนสำคัญประการหนึ่งในการพัฒนามนุษย์ให้มีความสมบูรณ์ทั้งทางด้านสติปัญญาและจิตใจ นอกเหนือจากการให้ผลประโยชน์โดยตรงต่อตัวผู้เรียนเองแล้ว การศึกษายังก่อให้เกิดผลประโยชน์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและ สังคมทั้งทางตรงและทางอ้อมอีกด้วย เพราะว่าการศึกษาถือเป็นการพัฒนาทุนมนุษย์ ซึ่งจะมีผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและ สังคม และยังเป็นการสร้างความมั่นคง ความเท่าเทียม ช่วยลดความเหลื่อมล้ำให้กับสังคม แต่จากรายงานสถิติการศึกษาใน ประเทศไทย ปีการศึกษา 2558 - 2559 โดยสำนักเลขาธิการสภาการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ พบว่าอัตราการคงอยู่ของ นักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 อยู่ที่ร้อยละ 84.3 และลดลงเหลือเพียงร้อยละ 74.5 ในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนรัฐบาลแห่งหนึ่งได้รับการแต่งตั้งเป็นโรงเรียนขยายโอกาส และเป็นโรงเรียนแกนนำที่ให้นักเรียนพิเศษที่มีความบกพร่องได้เรียนร่วมกับนักเรียนปกติ รวมถึงรับบุตรข้าราชการและคนงานของกรมชลประทานเข้าศึกษา เพื่อให้ความช่วยเหลือทางการศึกษาแก่นักเรียนที่พักอาศัยอยู่ในบริเวณกรมชลประทานปากเกร็ด และจากผลคะแนนการประเมินความฉลาดทางอารมณ์ของนักเรียนโรงเรียนแห่งหนึ่ง โดยใช้แบบประเมินความฉลาดทางอารมณ์สำหรับวัยรุ่น อายุ 12 – 17 ปี ที่พัฒนาโดยสำนักพัฒนาสุขภาพจิต กรมสุขภาพจิต กระทรวง สาธารณสุข ทำการศึกษาในนักเรียนระดับชั้นมัธยม ศึกษาปีที่ 1 โรงเรียนชลประทานสงเคราะห์ จังหวัดนนทบุรี จำนวน 53 คน พบว่า นักเรียนส่วนใหญ่มีคะแนนในด้านการเห็นใจผู้อื่น ความรับผิดชอบ การตัดสินใจและแก้ปัญหา สัมพันธภาพ ความภูมิใจในตนเอง ความพอใจในชีวิต และความสุขทางใจน้อยกว่าคะแนนเฉลี่ยของช่วงคะแนนปกติ นอกจากนี้จากการสัมภาษณ์เชิงลึกก็ยังพบว่านักเรียนส่วนใหญ่ไม่มีความรู้ในเรื่องการศึกษาต่อและเส้นทางอาชีพ รู้สึกขาดความมั่นใจในตนเอง ขาดความสามารถในการปกป้องสิทธิ์ของตนเอง และยังพบปัญหาการรังแกกันในโรงเรียน รวมถึงนักเรียนบางส่วนมีปัญหาในด้านความรุนแรง ปัญหายาเสพติด และปัญหาครอบครัว คณะผู้จัดกิจกรรมมุ่งหวังที่จะจัดกิจกรรมให้กับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 โรงเรียนแห่งหนึ่งเป็นระยะเวลา 2 วัน โดยการให้ความรู้ด้านการศึกษากับนักเรียน เพื่อชี้ให้นักเรียนเห็นความสำคัญของการเรียนจบ ระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น แนะนำเทคนิคในการเรียน ความรู้เรื่องเส้นทางอาชีพ และเลือกจัดกิจกรรมที่ส่งเสริมให้นักเรียน มีความรู้สึกปลอดภัย มั่นคง มั่นใจ และเห็นคุณค่าในตนเอง รวมถึงรู้จักวิธีในการจัดการและควบคุมอารมณ์เมื่อต้องพบเจอกับ สถานการณ์ต่างๆ ในช่วงวัยรุ่น เช่น การถูกรังแกในโรงเรียน ความขัดแย้งในครอบครัว หรือการปฏิเสธการมีเพศสัมพันธ์เมื่อไม่พร้อม เป็นต้น โดยวัตถุประสงค์ในการจัดกิจกรรม คือ สร้างองค์ความรู้ที่จำเป็นและเสริมสร้างความสามารถในการจัดการอารมณ์ เพื่อให้นักเรียนสามารถใช้ชีวิตในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นได้อย่าง เก่ง ดี และมีความสุข ทั้งนี้เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศต่อไปในอนาคต
4. วัตถุประสงค์
1. เพื่อให้นักเรียนสามารถตระหนักถึงความสำคัญของการเรียนจบชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น
2. เพื่อสร้างเสริมพลังและความภูมิใจในตนเองของนักเรียน
3. เพื่อสร้างความตระหนักรู้แก่นักเรียนในด้านการแสดงออกทางเพศที่เหมาะสมในช่วงวัยเรียน
4. เพื่อสร้างเสริมการจัดการอารมณ์ที่เหมาะสมแก่นักเรียน
5. เพื่อให้นักเรียนสนุกและสามารถนำประโยชน์จากกิจกรรมไปประยุกต์ใช้ได้จริงในชีวิตประจำวัน
5. ขั้นตอนการดำเนินงาน
ขั้นตอนที่ 1 (วัน อังคาร ที่ 11 กันยายน 2563) : สำรวจข้อมูล
ขั้นตอนที่ 2 (วัน อังคาร ที่ 13 พฤศจิกายน 2563) : ฐานแนะแนวอาชีพ และฐานทักษะการปฏิเสธ
ขั้นตอนที่ 3 (วัน พุธ ที่ 14 พฤศจิกายน 2563) : ฐานการจัดการอารมณ์ และฐานการเห็นคุณคร่าในตนเอง
ขั้นตอนที่ 4 (วัน ศุกร์ ที่ 16 พฤศจิกายน 2563) : สรุปกิจกรรม
6. สรุปผลการดำเนินการ
ฐานการเห็นคุณค่าในตนเองจัดทำขึ้นเพื่อให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้เข้าใจและตระหนักถึงการเห็นคุณค่าในตนเอง และเข้าใจในความแตกต่างของผู้อื่น รวมไปถึงการเพิ่มศักยภาพให้กับตนเองผ่านการทำกิจกรรม เนื่องจากการเรียนรู้นี้มีเนื้อหาที่ค่อนข้างเป็นนามธรรม ทางผู้จัดกิจกรรมจึงได้จัดทำกิจกรรมที่ทำให้ง่ายต่อการเข้าใจ และเนื้อหาที่สามารถเข้าถึงได้ง่าย
โดยฐานการเห็นคุณค่าในตนเอง แบ่งกิจกรรมออกเป็น 7 กิจกรรม ดังนี้ เริ่มจากกิจกรรม “คลื่นสมองต่ำสร้างสมาธิ”เพื่อสร้างบรรยากาศเชิงบวกเพื่อให้นักเรียนได้มีสมาธิจดจ่อกับตัวเอง ต่อด้วยกิจกรรม “โอกาสแห่งการเปลี่ยนแปลง” โดยให้นักเรียนดูคลิปบุคคลเรื่องราวของเด็กขโมยยา แล้วถามความรู้สึกจากนักเรียนที่มีต่อเรื่องราวที่เกิดขึ้น จากนั้นถามเพิ่มเติมว่ามีนักเรียนคนใดรู้สึกเหมือนกันหรือแตกต่างกันอย่างไรบ้าง นักเรียนมีความสนใจติดตามคลิปนี้ดี เพราะตัวเอกของเรื่องเป็นเด็กที่มีอายุใกล้เคียงกับนักเรียนในห้อง เนื้อหามีความเข้มข้น สามารถสื่ออารมณ์ได้ดี สามารถสังเกตได้จากการให้ความร่วมมือของนักเรียนในกิจกรรม มีส่วนน้อยประมาณ 1/5 ส่วนที่ยกมือขึ้นตอบคำถามเอง เนื่องจากนักเรียนส่วนมากยังมีความไม่มั่นใจ เขินอายไม่กล้าตอบคำถาม ผู้จัดกิจกรรมจึงได้ถามนักเรียนเพื่อกระตุ้นให้นักเรียนคนอื่นๆ มีส่วนร่วม
กิจกรรมเรียงลำดับ พบว่า นักเรียนส่วนใหญ่ประมาณ 4/5 ส่วนหลังจากทำกิจกรรมได้รับรู้ถึงความรู้สึกทางด้านลบ ผู้จัดกิจกรรมได้ชี้ให้นักเรียนเห็นว่าไม่มีใครต้องการถูกจัดลำดับ และตัวเราก็ไม่ควรจัดลำดับผู้อื่นด้วยเช่นกัน ในกิจกรรมนี้มีนักเรียนชาย 1 คนที่รู้สึกแย่ต่อกิจกรรมนี้เนื่องจากตัวเล็กที่สุดและมักโดนเพื่อนๆ ล้อ ผู้จัดจึงช่วยทำให้เกิดการเรียนรู้ด้วยการบอกเล่าประสบการณ์ส่วนตัว ผลที่ได้คือนักเรียนชายได้เรียนรู้การเห็นคุณค่าและสร้างเสริมศักยภาพให้ตนเอง โดยรวมแล้วนักเรียนคนอื่นๆ ก็สามารถเข้าใจเนื้อหาที่ผู้จัดกิจกรรมจะสื่อได้เป็นอย่างดี
กิจกรรมการ์ดสื่อความหมายเป็นกิจกรรมเพื่อสร้างความตระหนักรู้ในข้อดีและศักยภาพในตนเองและมองเห็นศักยภาพและข้อดีในตัวผู้อื่น พบว่า นักเรียนส่วนใหญ่ประมาณ 4/5 ส่วนให้ความร่วมมือในการทำกิจกรรมเป็นอย่างดี นักเรียนสามารถเข้าใจความเป็นตัวเอง และเข้าใจถึงความแตกต่างของผู้อื่น เนื่องมีการแบ่งออกเป็นกลุ่มย่อยออกเป็น 5 กลุ่มทำให้ผู้จัดกิจกรรมแต่ละคนสามารถพูดคุยกับนักเรียนได้อย่างมีความจำเพาะรายบุคคล ทำให้การสะท้อนตัวตนของนักเรียนแต่ละคนสามารถทำได้ดีในเวลาที่จำกัด ตลอดจนผู้จัดกิจกรรมแต่ละคนสามารถเป็นผู้นำกิจกรรมไปพร้อมพร้อมกันได้ด้วย เกิดเป็นการเรียนรู้ร่วมกันอย่างแท้จริง
กิจกรรมนิทานเล่าสนุก เป็นกิจกรรมเพื่อเสริมสร้างการมีทัศคติเชิงบวก ผู้จัดกิจกรรมนำเอานิทานเดิมมาแต่งเนื้อเรื่องใหม่ เพื่อทำให้สิ่งที่มีลักษณะนามธรรม มีความจับต้องได้ง่ายขึ้น เมื่อเล่านิทานจบ นักเรียนมีความตั้งใจฟังกันตั้งแต่เริ่มจนจบ และสามารถจับใจความสำคัญจากนิทานได้ดี โดยสามารถวัดผลสะท้อนกลับจากการตอบคำถามของนักเรียนช่วงท้ายกิจกรรม ที่ตอบได้ชัดเจน เสียงดังฟังชัด เนื่องจากผู้จัดกิจกรรมต้องการให้นักเรียนตระหนักถึงความสำคัญของทักษะการรับผิดชอบในตนเอง
กิจกรรมเปิดโลกนารุโตะ กิจกรรมนี้เป็นกิจกรรมที่ทำให้นักเรียนตระหนักถึงคุณค่าในตนเองและความเพียรพยายาม เนื่องจากเนื้อหาที่ค่อนข้างเป็นนามธรรม ผู้จัดกิจกรรมจึงเลือกใช้สื่อที่สามารถเข้าถึงนักเรียนได้ดีอย่างเช่น การ์ตูน เพื่อให้นักเรียนได้เข้าถึงเนื้อหาได้ง่าย จับต้องได้เป็นรูปธรรม ผลที่ได้คือนักเรียนให้ความสนใจเป็นอย่างมากเกินกว่าที่คาดการณ์ไว้ เนื่องจากการ์ตูนเรื่องนี้นักเรียนรู้จักและเคยดูกว่า 90% ทำให้นักเรียนจดจ่อกับเนื้อหาได้แม้ว่าคลิปวีดีโอนี้จะค่อนข้างยาว แต่นักเรียนก็ตั้งใจดูและเข้าใจเนื้อหาเป็นอย่างดี หลังจากดูจบผู้จัดกิจกรรมได้ถามคำถามและให้นักเรียนตอบเกี่ยวกับเนื้อหาในการ์ตูน พร้อมชี้ให้เห็นข้อคิดที่ได้จากการ์ตูนเรื่องนี้ในด้านการเห็นคุณค่าในตนเองและความทุ่มเท นักเรียนส่วนมากตั้งใจตอบคำถามเสียงดังฟังชัด
กิจกรรมของขวัญล้ำค่า กิจกรรมนี้ชี้ให้นักเรียนเล็งเห็นว่าตัวเรานั้นเป็นสิ่งล้ำค่าที่ไม่มีใครในโลกนี้มีเหมือน โดยรวมนักเรียนมีความประทับใจจากการร่วมกันส่งพลังบวกให้แก่เพื่อนคนข้างๆ ที่เกิดจากการตระหนักถึงสิ่งที่ดีในตนเอง และสามารถส่งต่อความรู้สึกดีเหล่านั้นได้ง่ายๆจากการเอ่ยวาจาซึ่งเป็นคำพูดเรียบง่าย
7. การประเมินผลกิจกรรม
1. ฐานการเห็นคุณค่าในตนเอง โครงการมีความเห็นว่ากิจกรรมของฐานการเห็นคุณค่าในตนเองมีจุดเด่นในเรื่องของสื่อการสอน คือคลิปวิดิโอที่ใช้ในการจัดกิจกรรมมีความเชื่อมโยงและใกล้เคียงกับวัยพัฒนาการของนักเรียน รูปแบบกิจกรรมที่ใช้ในการจัดกิจกรรมเป็นการเน้นให้นักเรียนมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นของตนเอง และช่วยให้นักเรียนได้ขยับร่างกาย นักเรียนจึงเกิดความสนุกสนานกับการมีส่วนร่วมในกิจกรรม รวมถึงสถานที่ที่จัดกิจกรรมอยู่ในห้องที่ควบคุมเสียงได้ดี สภาพอากาศเหมาะสมต่อการจัดกิจกรรม จึงส่งผลให้กิจกรรมฐานการเห็นคุณค่าในตนเองเป็นที่พึงพอใจสูงที่สุด ผู้จัดกิจกรรมเห็นว่าในกระบวนการเรียนรู้ระหว่างการทำกิจกรรมนี้ นักเรียนจะสามารถเรียนรู้ เข้าใจ และนำสิ่งที่ได้เรียนรู้ไปใช้ประโยชน์ได้มากขึ้น หากผู้จัดกิจกรรมใช้ภาษาที่เข้าใจได้ง่าย เหมาะสมกับวัย และความเข้าใจพื้นฐานของนักเรียน และไม่ควรมีการใช้คำทับศัพท์ หรือการใช้ภาษาอังกฤษสลับกับภาษาไทย เช่น คำว่า share เป็นต้น
2. ฐานการจัดการอารมณ์ มีรูปแบบกิจกรรมที่สามารถดึงดูดความสนใจของนักเรียนได้ มีการนำเอาอุปกรณ์ต่างๆ เข้ามาช่วยในกระบวนการจัดกิจกรรม เช่น กิจกรรมฉีกหัวใจที่ให้นักเรียนฉีกกระดาษโปสเตอร์รูปต่างๆ เมื่อรู้สึกโกรธ กิจกรรมลูกโป่งคลายเครียดที่ให้นักเรียนเป่าลูกโป่งเมื่อมีความเครียด ซึ่งกิจกรรมดังกล่าวทำให้นักเรียนมีส่วนร่วมกับกิจกรรมได้มากขึ้นด้วยการใช้อุปกรณ์ต่างๆ ส่งผลให้เกิดความสนุกสนานขณะร่วมกิจกรรม และการนำอุปกรณ์การสื่อสารมาใช้ในห้องจัดกิจกรรม เช่น ไมโครโฟนและลำโพงพกพา ส่งผลให้นักเรียนได้ยินร่วมกันอย่างทั่วถึง ช่วยให้ดึงดูดความสนใจของนักเรียนได้เป็นอย่างดี รวมทั้งการแบ่งผู้จัดกิจกรรมออกเป็นกลุ่มย่อย ประมาณ 1 คนต่อนักเรียน 4-5 คน เพื่อให้เข้าถึงนักเรียนได้ทุกคน และนักเรียนจะมีส่วนร่วมกับการจัดกิจกรรมได้มากขึ้น จึงส่งผลให้กิจกรรมฐานการจัดการอารมณ์เป็นที่พึงพอใจอันดับที่ 2 ผู้จัดกิจกรรมเห็นว่าในกระบวนการเรียนรู้ระหว่างการทำกิจกรรมนี้ นักเรียนจะสามารถเรียนรู้ เข้าใจ และนำสิ่งที่ได้เรียนรู้ไปใช้ประโยชน์ได้มากขึ้น หากผู้จัดกิจกรรมสามารถเชื่อมโยงการแสดงอารมณ์กับอุปกรณ์ต่างๆ ที่นำมาใช้ ด้วยการอธิบายเปรียบเทียบก่อนการทำกิจกรรม เช่น กรเป่าลูกโป่ง หมายถึง ข้าพเจ้ากำลังมีความ เครียด เป็นต้น
3. ฐานทักษะการปฏิเสธ ทำให้นักเรียนแต่ละคนได้ถ่ายทอดความรู้สึกของตนเองออกมา และกิจกรรมแลกการ์ดรูปเป็นกิจกรรมที่ได้ให้นักเรียนขยับร่างกาย นักเรียนเกิดความสนุกสนาน และมีความกระตือรือร้นในการเข้าร่วมกับกิจกรรม ผู้จัดกิจกรรมเห็นว่าในกระบวนการเรียนรู้ระหว่างการทำกิจกรรมนี้ นักเรียนจะสามารถเรียนรู้ เข้าใจ และนำสิ่งที่ได้เรียนรู้ไปใช้ประโยชน์ได้มากขึ้น หากผู้จัดกิจกรรมมีการยกตัวอย่างสถานการณ์การปฏิเสธที่เข้าใจได้ง่าย และใกล้เคียงกับชีวิตประจำวันของนักเรียน จะส่งผลให้นักเรียนสามารถนำสิ่งเหล่านี้ไปใช้ได้จริง
4. ฐานอาชีพ ทำให้นักเรียนเข้าใจถึงระดับการศึกษาต่างๆ ลักษณะเด่น รวมถึงหน้าที่การทำงานของแต่ละอาชีพได้ชัดเจน และรูปแบบการจัดกิจกรรมที่มีการแบ่งผู้จัดกิจกรรมออก เป็นกลุ่มย่อย ประมาณ 1 คนต่อนักเรียน 4-5 คน เพื่อให้เข้าถึงนักเรียนได้ทุกคน และนักเรียนจะมีส่วนร่วมกับการจัดกิจกรรมได้มากขึ้น ผู้จัดกิจกรรมเห็นว่าในกระบวนการเรียนรู้ระหว่างการทำกิจกรรมนี้ นักเรียนจะสามารถเรียนรู้ เข้าใจ และนำสิ่งที่ได้เรียนรู้ไปใช้ประโยชน์ได้มากขึ้น
|