ReadyPlanet.com
dot dot




ติดเหล้า

โรคติดสุรา


 
             

                โรคติดสุรา หรือพิษสุราเรื้อรัง เป็นคำกว้าง ๆ ที่ใช้ในการวินิจฉัยผู้ติดสุรา ที่ทำให้เกิดปัญหาหน้าที่การงาน หรือสุขภาพ มีลักษณะการดำเนินโรคอย่างเรื้อรัง ก้าวหน้า โดยมีลักษณะที่สูญเสียความสามารถในการควบคุมการดื่มสุรา และมีผลเสียตามมา ในด้านต่าง ๆ เช่น ด้านสังคม กฎหมาย สุขภาพจิต และสุขภาพทางร่างกาย และผู้ป่วยมักไม่ตระหนักถึงปัญหาเหล่านี้ ว่าเกิดจากการใช้สุรา
                การดื่มสุรามาเป็นเวลานาน ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางความรู้สึก แลทำให้ผู้ใช้อยาก     ใช้อีก แม้ว่าจะเกิดผลเสียมากมาย เป็นการเสพติดทางใจ และการเสพติดทางร่างกาย ทำให้เกิดการถอนสุรา หรือไม่สบาย หากไม่ได้ใช้
 
สุรามีผลเสียต่อร่างกายอย่างไร?
                สารออกฤทธิ์ที่สำคัญในสุราคือแอลกอฮอล์ ซึ่งทำละลายได้ดี ทั้งในน้ำและไขมัน สามารถแพร่ไปได้ทุกส่วนของร่างกาย จึงมีผลต่อร่างกายทุกระบบ
                1. ผลต่อระบบประสาท
                        1.1   จำเหตุการณ์ขณะเมาไม่ได้    เป็นลักษณะการสูญเสียความจำ ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง ในขณะที่ผู้นั้นดื่ม จำไม่ได้ว่าคุยกับใคร จอดรถไว้ที่ไหน
                        1.2   ผลต่อการนอน   แม้ว่าการดื่ม การเมาสุรา อาจจะทำให้นอนหลับได้ง่ายขึ้น แต่แอลกอฮอล์จะรบกวนวงจรการนอน นอนหลับไม่ต่อเนื่อง ทำให้ตื่นขึ้นมามีอาการไมสดชื่น รู้สึกแฮงค์
                        1.3   ผลต่อเส้นประสาทส่วนปลาย   ซึ่งเป็นผลจากการขาดวิตามิน และพิษของแอลกอฮอล์โดยตรง อาการจะมีอาการชา บริเวณมือและแขน
                        1.4   ผลต่อสมองส่วนซีรีเบลลั่ม   มีลักษณะเฉพาะคือ ไม่สามารถยืนหรือทรงตัวนิ่งได้ อาการตากระตุก สมองส่วนนี้จะเสื่อมลงถาวร แม้หยุดสุราแล้วก็ไม่ค่อยหายอย่างสมบูรณ์
                2. ผลต่อระบบทางเดินอาหาร ปัญหาคลื่นไส้อาเจียน เลือดออกในทางเดินอาหาร กระเพาะอาหารอักเสบ ปัญหาตับแข็ง ตับและตับอ่อน ทำให้เกิดโรคตับแข็ง มีการสะสมของเสียพวก ยูเรีย จนเป็นพิษต่อสมอง
                3. ระบบหลอดเลือด การดื่มสุราเป็นจำนวนมาก จะทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้น เพิ่มระบบไขมันที่อิ่มตัว ที่มักจะสะสมตามหลอดเลือด ได้แก่  LDL และ triglyceride  จึงเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจขาดเลือด
                4. ระบบเลือด การดื่มสุราในระดับสูง จะลดการผลิตเม็ดเลือดขาด ลดความสามารถของเซลล์ในการเข้าสู่ตำแหน่งติดเชื้อ มีผลต่อเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือด ซึ่งทำให้มีการสร้างจำนวนเม็ดเลือดแดงลดลง รูปร่างเม็ดเลือดแดงมีขนาดใหญ่ขึ้น และมีผลต่อประสิทธิภาพของเกล็ดเลือด
                5. มะเร็ง พบอัตราการเกิดมะเร็งสูง ในผู้ติดสุรา ตั้งแต่มะเร็งของศีรษะ คอ หลอดอาหาร กระเพาะอาหาร ตับ ลำไส้ใหญ่ และปอด
                6. ผลต่อทารกในครรภ์มารดา เนื่องจากแอลกอฮอล์ สามารถผ่านได้ จึงสามารถทำให้เกิดผลร้ายแรงในทารกได้ หากมีปริมาณมากพอ จะทำให้เด็กเสียชีวิต หรือคลอดก่อนกำหนด ทารกที่คลอดจากครรภ์มารดาที่ดื่มสุราอย่างมาก พบว่าจะมีกลุ่มอาการ สติปัญญาทึบอย่างรุนแรง ศีรษะเล็ก รูปร่างเล็ก หน้าตาผิดปกติ ภาวะโรคหัวใจแต่กำเนิด นิ้วมือติดกัน หญิงตั้งครรภ์ จึงไม่ควรใช้สุราตลอดอายุการตั้งครรภ์
                7. อื่น ๆ ชายไทย หลังดื่มสุรา พบว่ามีความเสี่ยงในพฤติกรรมทางเพศ ในขณะมึนเมา เชน ไม่ใช้ถุงยางอนามัยในขณะมีเพศสัมพันธ์ ซึ่งอาจเป็นปัจจัยเสี่ยงในการติดกามโรค รวมทั้งโรคเอดส์ หรือประสบอุบติเหตุเพราะขาดสติ

ดูง่ายๆ เบื้องต้นอย่างไรว่า ติดหรือ ไม่ติด?
การคัดกรองสามารถทำได้อย่างง่ายๆ คือการใช้การคัดกรอง CAGE ซึ่งมีข้อคำถามเพียง 4ข้อ ดังนี้คือ
1. คุณเคยรู้สึกว่าอยากลด (Cut down) การดื่มลงใช่หรือไม่
2. คนอื่นมาทำให้คุณรำคาญ (Annoy)โดยวิพากษ์วิจารณ์การดื่มของคุณใช่หรือไม่
3. คุณเคยรู้สึกแย่หรือรู้สึกผิด (Guilt)เกี่ยวกับการดื่มของคุณใช่หรือไม่
4. คุณเคยดื่มเป็นสิ่งแรกที่คุณทำในตอนเช้า เหมือนแอลกอฮอล์ทำให้คุณลืมตาตื่นได้ (Eye opener) เพื่อให้ความรู้สึกเมาค้างหมดไปหรือเพื่อให้อารมณ์เป็นปรกติใช่หรือไม่

สำหรับจิตแพทย์แล้ว แค่ไหนจึงจัดว่า ติดสุรา?
การดื่มสุราหรือเครื่องดื่มผสมแอลกอฮอล์ ทำให้สุขภาพทั้งทางกายและทางจิตบกพร่อง โดยหากการดื่มแอลกอฮอล์นั้นๆทำให้ 1) เกิดความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บบ่อยๆ (เช่น ดื่มขณะขับรถ ว่ายน้ำ หรือใช้เครื่องจักรกล) 2) มีปัญหาความสัมพันธ์กับเพื่อน ครอบครัว หรือผู้ร่วมงานบ่อยๆ 3) บทบาทหน้าที่ในการทำงาน งานบ้าน หรือการเรียนมีความบกพร่อง หรือ 4) มีปัญหาด้านกฎหมาย เช่น ถูกตำรวจจับเนื่องจากเมาสุรา อาละวาด เรียกได้ว่าบุคคลนั้นมีปัญหาจากการใช้สุราหรือเครื่องดื่มผสมแอลกอฮอล์ “ในทางที่ผิด” โดยมีอาการข้อใดข้อหนึ่งจาก 4 ข้อข้างต้นก็ได้
ส่วนการ “ติดสุรา” นั้น ผู้ป่วยจะมีอาการอย่างน้อย 3 อาการ ตามเกณฑ์ดังนี้  คือ
1) ดื่มมากกว่าที่ตั้งใจไว้
2) ไม่สามารถหยุดหรือเลิกการดื่มสุราบ่อยครั้ง
3) มีอาการทนต่อสุรามากขึ้น เช่น ต้องดื่มมากกว่าเดิมอย่างมากจึงจะรู้สึกเช่นเดิม
4) มีอาการถอนเหล้า เช่น มือสั่น เหงื่อแตก คลื่นไส้ นอนไม่หลับ เวลาที่ลดการดื่มลง
5) ยังคงใช้สุราแม้รู้ว่าจะทำให้เกิดปัญหาทางกาย หรือทางจิตใจ
6) เวลาในแต่ละวันหมดไปกับการดื่ม การซื้อ การคิดถึงการดื่มสุรา การเมา หรือการฟื้นจากฤทธิ์สุรา
7) ใช้เวลาลดลงกับการกิจกรรมที่สำคัญเพราะมัวแต่ใช้เวลาไปกับการดื่มเหล้า
ถึงแม้ว่าบางคนที่ดื่มสุราหรือเครื่องดื่มผสมแอลกอฮอล์เป็นปริมาณมาก คือ มากกว่า4 แก้วต่อวันในผู้ชาย หรือมากกว่า 3 แก้วต่อวันในผู้หญิง จะไม่มีพฤติกรรมเข้าเกณฑ์ของการติดสุรา หรือ การใช้ในทางที่ผิด บุคคลนั้นๆก็ยังมีความเสี่ยงต่อปัญหาอื่นๆในอนาคตจากการดื่มสุราอยู่

เลิกเหล้า เลิกอย่างไร?
                ในผู้ดื่มสุราที่มีความเสี่ยงที่จะมีปัญหาต่อไปในอนาคต ควรแนะนำเปลี่ยนแปลงวิธีการดื่ม หรือเลิกการดื่ม เพื่อไม่ให้การดื่มนี้บานปลายออกไปเป็นปัญหา วิธีในการลดหรือเลิกการดื่มอาจเริ่มด้วยการตั้งจุดมุ่งหมายร่วมกันว่าจะลดการดื่มเหลือเท่าไร หรือไม่ดื่มเลย จากนั้นวางแผนที่เฉพาะเจาะจง เช่นจะไม่ไปบาร์หลังเลิกงาน จะวัดปริมาณการดื่มที่บ้านโดยจดไว้ที่ปฏิทินในครัว จะเปลี่ยนการดื่มจากสุราเป็นเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ นอกจากนี้ต้องวางแผนล่วงหน้าว่าหากอยู่ในสถานการณ์ที่มีความเสี่ยงสูงที่การดื่มสุราจะไม่เป็นไปตามแผนที่วางแผนไว้ จะมีวิธีในการจัดการอย่างไร และควรหาบุคคลหรือเพื่อนที่ไม่ดื่มเหล้ามาเป็นผู้ช่วย บ่อยครั้งที่มีความเป็นไปได้ที่ลดการดื่มไม่ได้ตามตั้งใจไว้ ให้พยายามกลับไปที่จุดเริ่มต้นอีกครั้ง คือ นึกถึงผลเสียของการดื่มอย่างต่อเนื่อง ทั้งทางร่างกายจิตใจและสังคม พร้อมทั้งตั้งเป้าหมายในการดื่ม วางแผนที่เฉพาะเจาะจงเพื่อที่จะเลิกหรือลดการดื่มลง ซึ่งหากปฏิบัติซ้ำๆจนลดหรือเลิกการดื่มตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ได้สำเร็จ จะช่วยให้ลดความเสี่ยงจากอันตรายจากการดื่มแอลกอฮอล์ได้ แม้ว่าบุคคลนั้นจะยังไม่ได้เกิดโรคหรือเข้าเกณฑ์การติดสุราก็ตาม
                 สำหรับผู้ที่ดื่มสุราจนถึงขั้น “ติด” หรือ มีการดื่ม “ในทางที่ผิด” แล้วนั้น การรักษามีลักษณะที่ใกล้เคียงกันกับผู้ที่ยังไม่ถึงขั้นติด แต่มีการใช้สุราแบบเสี่ยงดังที่กล่าวข้างต้น แต่มีข้อพิจารณาเพิ่มเติม เช่น การให้ยาเพื่อจัดการกับอาการถอนยาที่อาจเกิดขึ้น เรียกว่าช่วงล้างพิษ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่เคยมีอาการถอนสุราที่จะทำการเลิกหรือลดการดื่มอย่างทันทีทันใด ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับยาป้องกันการเกิดอาการถอนยา เช่น มือสั่น ชัก อาการประสานหลอน สับสน และเพื่อเป็นการตรวจเช็คร่างกายหรือโรคอื่นที่อาจเป็นผลจากการดื่มเป็นประจำ เช่น ความดันสูง หรือ โรคตับ นอกจากนี้อาจต้องได้รับยาอื่นเพิ่มเติมเพื่อช่วยให้การดื่มแอลกอฮอล์มีปริมาณลดลง โดยการสนับสนุนการปรับพฤติกรรมร่วมกับการใช้ยาจะได้ผลดีที่สุด
ระยะของการรักษาที่จะประสบความสำเร็จแบ่งได้ 4 ระยะ ดังนี้
    1. ระยะเตรียมความพร้อม เตรียมความพร้อมทั้งภาวะสุขภาพกาย และจิตใจ สร้างแรงจูงใจให้แน่วแน่
    2. ระยะถอนพิษสุรา   การใช้ยาเพื่อบรรเทาอาการถอนสุรา ในขณะงดดื่ม ลดอาการลงแดง
    3. ระยะป้องกันการดื่มซ้ำ อย่างน้อยจะต้องงดดื่ม 6-12 เดือน จึงเลิกได้เด็ดขาด
    4. ระยะติดตามผล สร้างแรงจูงใจในการลดอย่างต่อเนื่อง มีชีวิตใหม่ที่ปราศจากแอลกอฮอล์
ครอบครัว มีส่วนอย่างมากในการให้ช่วยเหลือ อดทน และกำลังใจผู้ป่วย ในทุกระยะ  

มีเทคนิคดีๆ ในการลดปริมาณการดื่มไหม ถ้ายังเลิกขาดไม่ได้?
1. ตั้งจุดมุ่งหมายถึงปริมาณและจำนวนวันที่ตั้งใจจะดื่มแอลกอฮอล์
2. ตั้งจังหวะการดื่มในแต่ละครั้ง เช่นจิบอย่างช้าๆ ดื่มน้อยกว่า 1 แก้วต่อชั่วโมง หรือสลับเปลี่ยนด้วยเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบ เช่น น้ำเปล่า น้ำอัดลม หรือ น้ำผลไม้
3. รับประทานอาหารร่วมด้วยขณะดื่ม จะทำให้แอลกอฮอล์ถูกดูดซึมได้ช้าลง
4. หลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นเช่น ถ้าเห็นคนบางคน หรือ สถานที่บางอย่าง แล้วทำให้รู้สึกอยากดื่ม ก็ควรที่จะหลีกเลี่ยงเหตุการณ์นั้นๆ ถ้ากิจกรรมบางอย่างเป็นตัวกระตุ้น ก็ควรที่จะวางแผนว่าจะทำอะไรแทนกิจกรรมนั้น แต่ถ้าการอยู่ที่บ้านเป็นตัวกระตุ้น ก็ควรที่จะไม่มีแอลกอฮอล์เก็บไว้ในบ้าน
6. วางแผนที่จะจัดการกับความรู้สึกอยากดื่มเมื่อมันเกิดขึ้น เช่น เตือนตนเองถึงเหตุผลที่ต้องการเลิก  พูดคุยกับคนที่รู้สึกไว้วางใจ หรือหันไปทำกิจกรรมอื่นที่ไม่กระตุ้นให้ดื่ม หรือบางทีก็ปล่อยให้ความรู้สึกอยากดื่มนี้มีต่อไป โดยยอมรับถึงความรู้สึกนี้ และรู้ว่าอีกไม่นานมันก็จะหายไป
7. รู้จักที่จะปฏิเสธ เนื่องจากจะมีบ่อยครั้งที่คนอื่นจะชักชวนให้ดื่ม โดยทำอย่างสุภาพ และจริงจัง ยิ่งปฏิเสธได้เร็วเท่าใด ยิ่งทำให้มีโอกาสน้อยที่จะกลับไปดื่มอีก ดังนั้นไม่ควรลังเลที่จะปฏิเสธอย่างทันทีทันใด เมื่อมีผู้ชักชวนให้ดื่ม
8. การมีกลุ่มที่ช่วยเหลือสนับสนุนกันในการเลิกการดื่ม จะสามารถช่วยให้มีกำลังใจ ได้เห็นตัวอย่างของผู้ที่ประสบความสำเร็จในการเลิกดื่ม และให้ประสบการณ์หรือวิธีการของแต่ละคนในการเลิกการดื่มได้ด้วย
กล่าวโดยสรุปแล้วการเลิกดื่มสุราหรือเครื่องดื่มผสมแอลกอฮอล์นั้นต้องมีความตั้งใจ และหาแรงจูงใจในการเลิกดื่ม เช่น เลิกดื่มเพราะสุขภาพ เป็นต้น จากนั้นเมื่อตั้งใจจะเลิกแล้วอย่างแน่นอนแล้ว ควรมีการค้นหาว่าตนเองมีลักษณะการดื่มเป็นเช่นไร อะไรเป็นตัวกระตุ้นให้ดื่ม จากนั้นพิจารณาว่าตนเองดื่มสุราอยู่ในระดับใด หากเข้าเกณฑ์ของการเป็นผู้ติดสุรา ควรที่จะปรึกษาแพทย์เพื่อรับยาช่วยในการเลิกการดื่มพร้อมกับทำพฤติกรรมบำบัดหรือจิตบำบัดร่วมด้วย
 

 




รอบรู้เรื่องสุขภาพจิตผู้ใหญ่

วิตกกังวล
เศร้าหลังคลอด
ถูกนอกใจ
อยากตาย
โรคแพนิค (Panic)
อารมณ์แปรปรวน
วิกลจริต (Psychosis)
ติดบุหรี่
ติดการพนัน



Copyright © 2011 All Rights Reserved.
Department of Psychiatry, Faculty of Medicine, Chulalongkorn University BANGKOK 10330
Tel: (662) 256-4000-61509