ReadyPlanet.com
dot dot




วิตกกังวล


วิตกกังวล


 

ความวิตกกังวล
 
                ความกังวลเป็นเรื่องธรรมชาติอย่างหนึ่งที่พบได้เป็นปกติในมนุษย์เพื่อเตรียมพร้อมในการเผชิญปัญหาหรือสถานการณ์ความเครียดต่าง ๆซึ่งแสดงออกทั้งในทางความคิดและความรู้สึกทางกาย ผลักดันให้คนเราแก้ปัญหาและคิดพัฒนาสิ่งต่างๆ  แต่ถ้าความคิดวิตกกังวลนั้นมากเกิน ควบคุมไม่ได้หรือไม่เหมาะสมต่อสถานการณ์ ร่วมกับมีอาการมากเกินไป ก็จัดเป็นความผิดปกติแบบหนึ่งที่ควรได้รับการดูแลรักษา เพื่อลดความทรมานกาย ทรมานใจเหล่านี้
 
ความวิตกกังวลถ้าปล่อยไว้จะมีอาการอย่างไร?
                ความคิดวิตกกังวลเกิดอยู่นานแล้ว คล้ายลักษณะประจำตัว ซึ่งอาจเป็นเรื้อรังหรือเป็น ๆ หาย ๆ ได้ เป็นความกังวลไปทั่วๆ ทุกเรื่อง เรื่องราวต่างๆดูจะมีความสำคัญจนวางใจไม่ลง หรืออาจจะห่วงกังวลไปล่วงหน้า ทำให้รู้สึกไม่สบายใจ   อาการทางกายที่ตามมาก็คือความตึงเครียด เช่น ปวดตึงศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ สั่น อาการระบบประสาทอัตโนมัติทำงานมากเกินไป ได้แก่ ใจสั่น ใจเต้นเร็วและแรง หายใจไม่อิ่ม ถอนหายใจบ่อย รู้สึกเหมือนมีก้อนจุกที่ลำคอ ท้องเสีย ปัสสาวะบ่อย เหงื่อแตก มือเท้าเย็น เป็นต้น บางคนมีอาการเหล่านี้แล้วพลอยเข้าใจว่า ตนเองเป็นโรคร้ายแรง ยิ่งกังวลมากขึ้น อาการเลยยิ่งแย่ลง วนเป็นวงจรอุบาทว์
                นอกจากนี้มักพบปัญหานอนไม่หลับ ข่มตาหลับยาก นอนหลับ ๆ ตื่น ๆ ตกใจง่าย หงุดหงิด ไม่สบายตัว ไม่มีสมาธิ ซึ่งอาการเหล่านี้รบกวนการดำเนินชีวิตหรือประสิทธิภาพในการทำหน้าที่ต่าง ๆ
 
ทำไมคนเราจึงมีอาการวิตกกังวล?
                สาเหตุที่แท้จริงยังไม่ทราบแน่ชัด เชื่อว่าเกิดจากปัจจัยทางชีววิทยา และจิตสังคมร่วมกัน ปัจจัยทางชีววิทยา เกี่ยวข้องกับความผิดปกติของสารสื่อประสาทต่าง ๆ ในสมอง ส่วนปัจจัยทางพันธุกรรมอาจมีบทบาทบ้าง ได้แก่ การพัฒนาบุคลิกภาพ มักมีบุคลิกภาพแบบวิตกกังวล ประหม่าง่าย ไม่มั่นใจตนเอง ตัดสินใจไม่ค่อยได้
                ปัจจัยที่ชักนำให้เกิดอาการ อาจเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ความเครียดต่าง ๆ ในชีวิต ซึ่งอาจเป็นเรื่อง งาน การสูญเสีย ปัญหาสุขภาพ ความสัมพันธ์กับผู้อื่น เป็นต้น หลายคนมีประวัติความวิตกกังวลตั้งแต่เด็ก มักพบว่ามีประสบการณ์ที่ไม่ดี เช่น การเลี้ยงดูที่จู้จี้เข้มงวด หรือเคยเกิดการพลัดพรากในวัยเด็ก
                ทฤษฎีพฤติกรรมและการเรียนรู้ อธิบายว่าเป็นการตอบสนองต่อภาวะอันตรายที่คนเรารับรู้ แต่ตอบสนองได้ไม่ถูกต้องหรือเหมาะสม   เพราะไม่มั่นใจในความสามารถต่อการเผชิญปัญหาของตน ความคิดในหัวจึงวนเวียนและอาการทางกายจึงปั่นป่วน

ภาวะนี้จะแก้ไขอย่างไร?
-หลายครั้งที่ภาวะวิตกกังวลเกิดจากโรคบางอย่างหรือสารบางอย่าง จึงควรได้รับการประเมินจากแพทย์ว่ามีโรคหรือสารที่อาจเป็นสาเหตุให้เกิดอาการ เช่น ฮอร์โมนของต่อมธัยรอยด์ผิดปกติ ยาบางชนิด หรือสารคาเฟอีน ที่พบในกาแฟและเครื่องดื่มบำรุงกำลัง เป็นต้น  เมื่อแพทย์ตรวจแล้วจะได้เพื่อทำการรักษาแก้ไข
- การรักษาด้วยจิตบำบัดหรือรับคำปรึกษา การได้พูดคุยระบายความรู้สึกและปัญหาค้นหาสาเหตุความเครียด และเรียนรู้แนวทางในการแก้ไขปัญหาที่ยืดหยุ่นขึ้น ร่วมกับการได้รับความเห็นอกเห็นใจ กำลังใจ หรือปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อม จะช่วยให้อาการดีขึ้น ผู้รักษาอาจช่วยสะท้อนให้เกิดความเข้าใจตนเอง เพื่อคิดและปฎิบัติต่อตนเองได้ดีขึ้น รัก มั่นใจ และนับถือในตนเองมากขึ้น
-การรักษาแบบปรับวิธีคิดและพฤติกรรม จะช่วยให้มีวิธีคิดที่กว้างขึ้น ไม่คิดแต่ทางลบแบบเดิมๆ และฝึกการเผชิญปัญหาต่างๆ   การฝึกผ่อนคลายด้วยเทคนิคต่าง ๆ
-การใช้ยา ยาคลายกังวลหรือยาลดการทำงานของระบบประสาทอัตโนมัติ จะช่วยลดอาการวิตกกังวลได้ แต่ควรได้รับการตรวจโดยแพทย์ก่อนใช้ เพื่อพิจารณาชนิดและขนาดที่เหมาะสม บางรายอาจต้องใช้ยากลุ่มต้านเศร้าหากแพทย์พิจารณาแล้วว่าต้องรับประทานยาในระยะนาน หรือมีอารมณ์เศร้าร่วม คนที่กังวลง่ายเมื่อต้องใช้ยา อาจยิ่งกังวล กลัวผลข้างเคียง กลัวติดยา ต่างๆนานา จึงควรปรึกษากับแพทย์ผู้สั่งยาถึงประเด็นเหล่านี้ให้ชัดเจนก่อน 
 
จะป้องกันหรือช่วยเหลือตัวเองอย่างไร ไม่ให้เป็นโรควิตกกังวล
-รู้ทันความเครียด  สำรวจใจตนเองหรือถามคนรอบข้างว่า เราเครียดมากไปแล้วหรือไม่
-มีวิธีปรับตัวหรือเอาชนะอารมณ์เครียดอย่างเหมาะสม เช่น มีกิจกรรมที่ชอบและผ่อนคลาย หาคนที่ไว้ใจเพื่อระบายความรู้สึกหรือปัญหา รู้จักให้กำลังใจตนเองหรือยอมรับสถานการณ์ต่าง ๆ
-การออกกำลังกาย เป็นวิธีที่ระบายความเครียด ปรับระบบต่างๆของร่างกายให้กลับสู่สมดุล ลดความคิดฟุ้งซ่านและ ได้ความรู้สึกว่าเรายังควบคุมตนเองหรือสถานการณ์ต่างๆ ได้ดีด้วย เป็นวิธีที่ขอแนะนำเป็นอย่างยิ่ง
-หมั่นสำรวจจิตใจเพื่อทำความเข้าใจตนเอง ทำสมาธิให้เกิดความสงบ ฝึกสติ จะได้รู้ทันความคิดตนเอง ว่าฟุ้ง ว่าคิดเลยเถิด เพียงใด เมื่อรู้ทันก็ดึงใจกลับมาอยู่กับปัจจุบันได้  ปัจจุบันแม้ในต่างประเทศก็นำการนั่งสมาธิ (Mindfulness Meditation)มาใช้รักษาปัญหาสุขภาพจิตหลากหลายกรณี

 




รอบรู้เรื่องสุขภาพจิตผู้ใหญ่

เศร้าหลังคลอด
ถูกนอกใจ
อยากตาย
โรคแพนิค (Panic)
อารมณ์แปรปรวน
วิกลจริต (Psychosis)
ติดบุหรี่
ติดเหล้า
ติดการพนัน



Copyright © 2011 All Rights Reserved.
Department of Psychiatry, Faculty of Medicine, Chulalongkorn University BANGKOK 10330
Tel: (662) 256-4000-61509