ReadyPlanet.com
dot dot




หนูไม่อยากไปโรงเรียน

                                              เด็กไม่ไปโรงเรียน

                          

เด็กไม่ยอมไปโรงเรียนผิดปกติมากไหม?

         การที่เด็กไม่อยากไปโรงเรียน เป็นปรากฏการณ์ปกติในเด็กเล็กที่เริ่มไปโรงเรียนใหม่ๆในเด็กไทยจะเริ่มไปโรงเรียนอยู่ในช่วง
อายุประมาณ 2 ขวบครึ่ง ถึง 3 ขวบ ซึ่งเป็นช่วงที่เด็กมีความกังวลกับการแยกจาก (separation anxiety) ทำให้การไปโรงเรียนใน
ช่วงแรกเป็นไปได้ลำบาก อย่างไรก็ตามความกังวลนี้จะลดลงเมื่อเด็กเติบโตขึ้นเด็กจะมีความมั่นใจมากขึ้นว่าเมื่อจากกับพ่อแม่แล้ว
เดี๋ยวก็จะได้พบกันเกิดมีความมั่นคงทางอารมณ์

เมื่อเด็กเล็กไม่ยอมไปโรงเรียน คุณหมอมีคำแนะนำใดให้ผู้ปกครองบ้าง?
         กลุ่มเด็กเล็กมากอายุต่ำกว่า 2 ขวบ อาจจะติดพ่อแม่หรือผู้เลี้ยงดูมากอาจเหมาะสมกว่า ถ้าให้เด็กได้อยู่กับที่บ้านต่อไปก่อน
เพราะยังมีความกังวลกับการแยกจากสูงตามพัฒนาการปกติในกรณีเด็กตั้งแต่ 2 ขวบครึ่ง ถึง3 ขวบที่ไม่ยอมไปโรงเรียนผู้ปกครอง
ควรใจเย็น ปลอบโยน ให้กำลังใจพูดให้เห็นประโยชน์ของการไปโรงเรียน การพูดควรทำด้วยความนุ่มนวล ไม่ควรดุหรือตะคอก
หรือลงโทษ และติดต่อประสานงานกับครูให้ครูเตรียมพร้อมรับเด็กเมื่อพาเด็กไปส่งถึงโรงเรียนพ่อแม่ควรจะใจแข็งให้ครูเป็นคนรับมือ
พาเด็กเข้าโรงเรียนพ่อแม่ไม่ควรวิตกกังวลมากเกินไปและไม่ควรอยู่เฝ้าลูกเพราะจะยิ่งทำให้ปัญหายืดเยื้อยาวนานมากขึ้นเพราะเด็ก
ก็จะยิ่งไม่มั่นใจ กลัว และกังวลพ่อแม่ควรจากมาด้วยท่าทีที่หนักแน่นมั่นคง นิ่งสงบ ไม่หวั่นไหว ถ้าจำเป็นต้องแกะตัวเด็กออกไปให้
มองหน้าแล้วบอกกับเด็กว่า เดี๋ยวตอนเย็นพ่อแม่ก็จะมารับแล้ว ตอนนี้เรียนหนังสือก่อน แล้วค่อยเจอกัน  ให้เด็กคาดหวังได้ว่าจะได้
เจอกันอีกแสดงให้เด็กเข้าใจว่า ตามปกติคนเรามีการแยกจาก แล้วก็จะมีการพบกันใหม่   เป็นรูปแบบที่เกิดขึ้นซ้ำๆ เป็นธรรมดา เด็ก
จะได้เรียนรู้ว่าการแยกจากเป็นเรื่องธรรมชาติ และเติบโตทางจิตใจมากขึ้น  

ในเด็กที่โตกว่านั้น เช่นเด็กประถม อาการไม่ยอมไปโรงเรียนมักจะเป็นอย่างไร?
         ลักษณะอาการที่พบ มักพบในช่วงเช้าของวันจันทร์ หรือหลังวันหยุดยาว เด็กจะไม่อยากไปด้วยสาเหตุต่างๆหรืออ้างความ
เจ็บป่วยทางร่างกาย แต่อาการนี้จะหายไปเมื่อได้หยุดเรียนวันนั้น หรือเมื่อหยุดเสาร์อาทิตย์หากผู้ปกครองยืนยันจะให้ไปโรงเรียน
จะต่อต้านมากบางคนอาจแสดงความก้าวร้าวรุนแรง แต่เมื่ออยู่ในโรงเรียนตอนกลางวันแล้วเด็กบางคนจะสงบลง เล่นกับเพื่อน
เรียนได้ตามปกติ แต่พอเช้าจะเป็นใหม่

สาเหตุที่พบได้บ่อยๆในเด็กไม่ยอมไปโรงเรียนคืออะไร?
         เราควรหาสาเหตุที่เกี่ยวข้องว่ามีปัจจัยอะไรบ้างที่ทำให้ไม่อยากไปโรงเรียนโดยเฉพาะในกรณีที่เด็กเคยไปโรงเรียนได้แล้ว
วันหนึ่งเกิดไม่อยากไปซึ่งมีได้ตั้งแต่
1. เด็กมีความตึงเครียดอะไรที่โรงเรียนที่ทำให้เด็กต้องหลีกหนีหรือเปล่า เช่นถูกเพื่อนแกล้ง ครูดุแล้วเด็กกลัวมาก ห้องน้ำสกปรกโดน
บังคับให้กินอาหารที่ไม่ชอบ
2. ปัจจัยทางบ้าน เช่นมีน้องใหม่ที่บ้าน เด็กมีความกังวลเรื่องพ่อแม่ทะเลาะกันการขาดการดูแลเอาใจใส่ ว่าการเรียนเป็นเรื่องสำคัญ
ทำให้เด็กอยากสบายอยู่บ้านเล่นเกมส์ หรือเน้นมากเกินไปว่าต้องเรียนให้ได้คะแนนดี ทำให้เด็กทั้งที่เรียนไม่ดีอยู่แล้วหรือเคยเรียนดี
มาตลอด แต่เกิดความไม่มั่นใจว่าอาจทำสอบได้ไม่ดีเท่าเดิมในการสอบครั้งนี้จึงไม่อยากไปเพราะกลัวว่าจะล้มเหลว ซึ่งมักแสดงอาการ
ช่วงใกล้สอบ เป็นต้น
3.นอกจากนี้ อาจเป็นจากโรคทางจิตเวช ไม่ว่าจะเป็นเรื่องปัญหาทางด้านอารมณ์เป็นโรคซึมเศร้า  โรควิตกกังวลทำให้เด็กแยกจาก
พ่อแม่ได้ลำบาก  

ถ้าลูกไม่ยอมไปโรงเรียน พ่อแม่ควรทำอย่างไร?
        ผู้ปกครองควรใจเย็นๆแล้วค่อยๆพูดคุยกับลูกให้เข้าใจสาเหตุ และแก้ไขตามสาเหตุนั้นเท่าที่ทำได้ แล้วพากลับไปโรงเรียนให้เร็ว
ที่สุด ข้อสำคัญคือ ต้องหลีกเลี่ยงการให้เด็กอยู่บ้านเพราะถ้ายิ่งหยุดนาน ก็ทำให้ยิ่งปรับตัวยากเมื่อกลับไปเรียนโดยอาจต้องมีการปรับ
พฤติกรรมบางอย่าง เช่น เปลี่ยนคนรับส่ง ในกรณีที่แม่มีความกังวลก็อาจจะไม่เหมาะที่จะไปส่งอาจจะให้พ่อเป็นคนไปส่งแทน เพื่อให้
เด็กสามารถเข้าไปเรียนได้
        ถ้าพ่อแม่ได้พยายามแก้ปัญหาด้วยวิธีการต่างๆแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการต่อรองให้รางวัล ใจแข็ง แล้วยังไม่ได้ผล แนะนำให้มาพบจิตแพทย์
เรื่องนี้จัดเป็นภาวะฉุกเฉินทางจิตเวชเด็กภาวะหนึ่ง เพราะการไม่ได้ไปโรงเรียนนานๆจะมีผลเสียทำให้ยิ่งปรับตัวยากก่อให้เกิดปัญหาต่อ
ทั้งตัวเด็กเองและครอบครัวมากขึ้นเรื่อยๆ
 
เมื่อพาเด็กที่ไม่ยอมไปโรงเรียนมาหาจิตแพทย์แล้ว จิตแพทย์จะช่วยได้อย่างไร?
        การดูแลแก้ไขปัญหานี้ต้องทำด้วยความรวดเร็ว ต้องมีการประเมินในหลายๆด้านไม่ว่าจะเป็นการตรวจร่างกายอย่างละเอียดในกรณี
ที่เด็กบอกว่ามีอาการทางกายว่าป่วยเรื่องใดหรือไม่อย่างใดต้องประเมินสภาพจิตใจและระดับสติปัญญาของเด็ก ประเมินสภาพจิตใจของ
ทั้งครอบครัวความสัมพันธ์ระหว่างบิดามารดาหรือพี่น้อง รวมทั้งประเมินสภาพทางโรงเรียนในเรื่องความประพฤติ ความสัมพันธ์กับเพื่อน
และครู มีการประสานงานหลายฝ่ายนอกเหนือจากจิตแพทย์อาจจะต้องให้นักสังคมสงเคราะห์ดูแลในเวลาที่จะนำเด็กกลับไปที่โรงเรียน
เป็นคนประสานงานระหว่างที่โรงเรียนและที่บ้านติดต่อหาความร่วมมือกับทางโรงเรียนเพื่อเตรียมพร้อม เมื่อเด็กไปถึงโรงเรียนแล้ว ควรมี
ผู้ดูแลจัดการอย่างเหมาะสมให้เด็กอยู่โรงเรียนได้ต่อ
        ส่วนการให้รางวัลนั้นทำได้เมื่อเด็กยอมไปโรงเรียนบ้างแล้วเป็นการส่งเสริมพฤติกรรมทางบวกของเด็ก แต่ควรหลีกเลี่ยงการให้เงิน
ทองสิ่งของ ของเล่น พยายามให้เป็นคำชม หรือคะแนน เช่น เป็นดาว แต้มสติ๊กเกอร์ สะสมแล้วค่อยไปแลกของรางวัลทีหลัง การให้ของ
ทันทีทำให้เด็กเรียนรู้ที่จะต่อรองและคุมได้ยากขึ้น

ถ้าเด็กไม่ยอมไปโรงเรียนจริงๆ จะจัดให้มีครูมาสอนพิเศษที่บ้านดีหรือไม่?
        ไม่แนะนำให้มีการจัดครูไปสอนพิเศษที่บ้านแทน เนื่องจากเด็กจะยิ่งไม่ต้องการไปโรงเรียน และไม่ได้เกิดการเรียนรู้ที่จะปรับตัว

 




รอบรู้เรื่องสุขภาพจิตเด็ก

หนูถูกแกล้ง
เด็กเรียนหนังสือไม่เก่ง
เด็กพูดโกหก
เด็กก้าวร้าว
เด็กดื้อ



Copyright © 2011 All Rights Reserved.
Department of Psychiatry, Faculty of Medicine, Chulalongkorn University BANGKOK 10330
Tel: (662) 256-4000-61509