ReadyPlanet.com
dot dot




เด็กดื้อ

 

                    
          
เด็กดื้อ ในความหมายของคนทั่วไปน่าจะหมายถึงเด็กที่ต่อต้านไม่เชื่อฟังในเด็กเล็ก เด็กอาจอาละวาดเพื่อแสดงความเป็นตัวของตัวเอง ซึ่งอาจถือเป็นพัฒนาการปกติ และจะถือว่าผิดปกติเมื่ออาการเป็นมากและไม่อยู่ในกฎเกณฑ์ทั่วไปของสังคม

แค่ไหนถึงจัดว่าดื้อผิดปกติ?

        อาการของเด็กดื้อ เด็กมีความดื้อรั้น ฝ่าฝืนคำสั่งและกฎเกณฑ์  เมื่อรุนแรงขึ้นก็อาจแสดงความก้าวร้าว
และเมื่อเป็นมากขึ้นในเด็กโตจะแสดงอาการต่อต้านสังคม ซึ่งนำไปสู่การละเมิดสิทธิ์ของผู้อื่นทั้งทางทรัพย์สิน
และร่างกาย ซึ่งในที่สุดอาจพัฒนาเป็นผู้ใหญ่ที่มีปัญหาบุคลิกภาพ
 
         สมาคมจิตแพทย์อเมริกันกำหนดการวินิจฉัยว่าเด็กมีความผิดปกติแบบดื้อดึงและต่อต้านเมื่อมีอาการต่อไปนี้
อย่างน้อย 4 อาการติดต่อกันเป็นเวลา 6 เดือน
 
                    1.  ควบคุมอารมณ์ไม่ได้บ่อย ๆ
 
                    2.  เถียงและทะเลาะกับผู้ใหญ่บ่อย ๆ
 
                    3.  ดื้อดึง ท้าทาย และฝ่าฝืนคำสั่งของผู้ใหญ่และกฎเกณฑ์บ่อย ๆ
 
                    4.  ตั้งใจรบกวนคนอื่นบ่อย ๆ
 
                    5.  โยนความผิดให้คนอื่นบ่อย ๆ
 
                    6.  อารมณ์เสียและโกรธง่ายบ่อย ๆ
 
                    7.  โกรธและไม่พอใจบ่อย ๆ
 
                    8.  แกล้งและแก้แค้นอาฆาตพยาบาทบ่อย ๆ

                   
ส่วนในเด็กโตจะได้รับการวินิจฉัยเป็นความประพฤติผิดปกติเมื่อมีอาการต่อไปนี้อย่างน้อย 3 อาการเป็นเวลา 1 ปี
 
                    1.  ขู่เข็ญ คุมคามคนอื่นบ่อย ๆ
 
                    2.  เริ่มต้นการต่อสู่  ลงไม้ลงมือ ใช้กำลังบ่อย ๆ
 
                    3.  เคยใช้อาวุธร้ายแรงในการต่อสู้
 
                    4.   ดุร้ายรังแกบุคคลอื่น
 
                    5.   ดุร้ายรังแกสัตว์
 
                    6.   ขโมยของโดยการใช้กำลังบังคับ
 
                    7.   บังคับผู้อื่นในกิจกรรมทางเพศ
 
                    8.   จุดไฟเผา ก่อให้เกิดความเสียหาย
 
                    9.    ทำลายทรัพย์สินของผู้อื่น
 
                    10.  บุกบ้านหรือใช้รถยนต์คนอื่นโดยไม่ได้รับอนุญาต
 
                    11.  หลอกลวงคนอื่น
 
                    12.  ขโมยโดยไม่ใช้กำลังบังคับ
 
                    13.  เที่ยวกลางคืนโดยไม่ได้รับอนุญาตบ่อย ๆ
 
                    14.  หนีออกจากบ้านข้ามคืน 2   ครั้งขึ้นไป
 
                    15.  หนีโรงเรียนบ่อย ครั้งแรกตั้งแต่อายุต่ำกว่า 13 ปี
 
เด็กดื้ออาจมีปัญหาทางสุขภาพจิตอื่นที่พบร่วมด้วย ซึ่งเป็นทั้งสาเหตุและผลลัพธ์ของพฤติกรรมนี้ คือ              
 
 
1.ความล้มเหลวทางการศึกษาเด็กดื้อมักมีปัญหาการเรียน  เช่น   มีความบกพร่องทางการอ่าน
ที่เรียกว่า Learning Disorder (LD)  ซึ่งเป็นปัญหาทางสมองทำให้ไม่พร้อมต่อการเรียน เช่น
คิดเลขไม่ได้ สะกดคำผิดๆถูกๆ   เรามักพบว่าเด็กที่มีปัญหาการเรียนจะมีปัญหาความประพฤติ
ร่วมด้วย   
 
2.สัมพันธภาพไม่ดีกับผู้อื่น เด็กดื้อมักถูกปฏิเสธ รังเกียจและไม่เป็นที่ชื่นชอบของเพื่อน มักจะ
ไม่มีเพื่อนสนิทที่คบกันนาน ๆ ขาดทักษะทางสังคมในการติดต่อกับเพื่อนและผู้ใหญ่ มีพฤติกรรม
ต่อต้านสังคม 
 
3..ปัญหาการปรับตัว เด็กที่มีความเครียด  เช่น มีการสูญเสียคนที่รัก  จะมีปัญหาความประพฤติได้ 
ซึ่งอาจเป็นในเวลาสั้น ๆ แล้วหมดไปเมื่อปรับตัวได้ 
 
4.โรคสมาธิสั้น  เด็กที่เป็นโรคสมาธิสั้นจะซน   อยู่ไม่นิ่งและมีปัญหาความประพฤติ เช่น ดื้อได้
  
5.การที่พ่อแม่คาดหวังในตัวเด็กมากเกินไป เด็กทำไม่ได้ เครียดขึ้น ทำให้เด็กดื้อและต่อต้าน
โดยการประชด
 
6.การมีสังคมและกลุ่มเพื่อนที่มีพฤติกรรมต้านสังคม เช่น จับกลุ่มกันเสพสารเสพติด การลักเล็ก
ขโมยน้อย ทำพฤติกรรมเสี่ยงอันตราย เพื่อจะเป็นที่ยอมรับในกลุ่ม 
 
7.ปัญหาทางสุขภาพจิตอื่น ๆ นำมาก่อนเช่น ภาวะซึมเศร้า
 
 
 
ความดื้อเป็นปัญหาทางกรรมพันธุ์หรือไม่?
 
          ความประพฤติผิดปกติมักมีประวัติถ่ายทอดถึงกันในครอบครัวซึ่งมีสาเหตุมาจากการอยู่ในสิ่งแวดล้อม
เดียวกันมากกว่าการถ่ายทอดทางพันธุกรรม
 
 
 
ทำไมเด็กถึงดื้อ?
 
1. สาเหตุจากตัวเด็กเอง 
 
         เด็กที่มีพื้นฐานอารมณ์และรูปแบบของพฤติกรรมอยู่ในกลุ่มเลี้ยงยาก มีแนวโน้มที่จะมีปัญหาก้าวร้าว
มีการศึกษา พบว่า เด็กเหล่านี้มีแนวโน้มที่จะแปลการกระทำที่เป็นกลางธรรมดาทั่วไปเป็นการประสงค์ร้าย
การเกลียดชัง  คัดค้าน  และแสดงความเป็นปรปักษ์และศัตรูกัน   ทำให้เพื่อนไม่ชอบ  รังเกียจ และปฏิเสธ
ซึ่งทำให้เด็กมีความคิดอ่านแบบเดิมเพิ่มขึ้นอีก เด็กส่วนใหญ่ขาดทักษะทางสังคม ขาดความนับถือตัวเอง
และรู้สึกซึมเศร้า
  
2. สาเหตุจากครอบครัว  แบ่งได้เป็น
 
·   ความเจ็บป่วยทางจิตของพ่อแม่นำไปสู่ความขัดแย้งในชีวิตสมรสและปัญหาในการเลี้ยงดูเด็ก
 
·   ปัญหาความประพฤติของพ่อแม่  เช่น มีประวัติอาชญากร  ทำให้เด็กอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ไม่ดี
 
·   วิธีการเลี้ยงดูบุตร ความขัดแย้งระหว่างพ่อแม่  ความเกลียดชังลูก การขาดความรักความอบอุ่น 
การขาดการสั่งสอนชี้แนะและการฝึกระเบียบที่สม่ำเสมอเด็กนั้นไม่ได้รับโอกาสให้พบและเรียนรู้
กฏเกณฑ์ทางสังคมจากพ่อแม่ที่ตามใจ   และการลงโทษที่รุนแรงเกินไป
 
·   รูปแบบของปฏิสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่และลูก พฤติกรรมที่ผิดปกติจะมากขึ้น ถ้าเด็กได้รับความ
สนใจเพิ่มเมื่อทำผิด เช่น ทำพฤติกรรมไม่ดีแล้วพ่อแม่สนใจมากขึ้น หรืออาละวาดแล้วพ่อแม่เลย
ยอมตามใจ
 
·   การถูกล่วงเกินทางเพศ
 
3.สาเหตุจากสังคมรอบตัว 
 
          อิทธิพลของโรงเรียน  โรงเรียนที่ไม่ดีพอสามารถทำให้เด็กที่ไม่เคยมีปัญหาที่บ้านมีปัญหาได้
ตัวอย่างโรงเรียนที่ไม่ดี  เช่น  โรงเรียนที่มีการบริหารจัดการไม่ดี ไม่มีกฎระเบียบควบคุมนักเรียนที่
มั่นคงพอ  บุคลากรน้อยและขาดขวัญและกำลังใจ เปลี่ยนบุคลากรบ่อยและไม่ค่อยติดต่อกับผู้ปกครอง
   
           ปัจจัยทางสังคมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องและมีผลต่อความประพฤติ เช่น อยู่ในชุมชนแออัด  
เด็กมีความอัตคัตขาดแคลนและเพื่อนบ้านที่เป็นตัวอย่างที่ไม่ดี
 
 
เด็กดื้อๆเหล่านี้โตขึ้นไปจะเป็นอย่างไร?
 
           จากการศึกษาติดตามพบว่าร้อยละ 40 ของเด็กที่ได้รับการวินิจฉัยเป็นโรคความประพฤติผิดปกติ
โตเป็นวัยรุ่นที่ทำผิดกฏหมายและยังคงมีปัญหาความประพฤติและปัญหาความสัมพันธ์กับผู้อื่นอย่างต่อเนื่อง
การศึกษาย้อนหลังของวัยรุ่นที่ทำผิดกฎหมาย พบว่า ร้อยละ 90 มีปัญหาประพฤติผิดปกติในวัยเด็ก จึงน่า
เป็นห่วงถ้ามีปัญหาในวัยเด็กแล้วไม่ได้แก้ไข
 
          โดยทั่วไปเด็กที่เป็นโรคความประพฤติผิดปกติ  นอกจากจะโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีความเสี่ยงที่จะมี
โรคทางจิตเวชและทำผิดกฎหมายแล้ว ส่วนใหญ่ยังคงโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีข้อด้อยทางสังคม ขาดการศึกษา
ตกงาน และมีปัญหาด้านความสัมพันธ์   เช่น การแยกทางกับคู่สมรส
  
 
จะแก้ปัญหาเด็กดื้อกันอย่างไรดี?
 
การช่วยเหลือควรเน้นทั้งที่ตัวเด็กและครอบครัว ขณะที่การวางแผนป้องกันในชุมชนส่วนรวมก็มีความสำคัญมาก
 
 
 
การช่วยเหลือที่เน้นที่ตัวเด็ก
 
1.การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมหรือพฤติกรรมบำบัด  เน้นการให้รางวัลกับการทำพฤติกรรมดี ไม่ใช่ทำโทษ 
 
2.การฝึกพัฒนาทักษะการแก้ปัญหาและการเข้าสังคม 
 
3.ถ้าสงสัยเป็นโรคสมาธิสั้น หรือปัญหาทางสุขภาพจิตอื่นๆ ควรพาพบจิตแพทย์เพื่อรักษา
 
 
การช่วยเหลือเน้นที่ครอบครัว            
 
1.การให้คำปรึกษาแก่ครอบครัวและความช่วยเหลือทางสังคม
 
2.ครอบครัวบำบัด  เช่น การกำหนดขอบเขตระหว่างบุคคลของเด็กและผู้ปกครองอย่างชัดเจน การปรับ
ปรุงบรรยากาศและการใช้อารมณ์ในครอบครัว ให้เด็กรู้สึกอยู่แล้วมีความสุข
 
3.การฝึกอบรมผู้ปกครอง ฝึกให้พ่อแม่ผู้ปกครองให้ความสนใจกับพฤติกรรมดีที่ต้องการมากกว่าคิดหมก
หมุ่นอยู่กับเรื่องไม่ดีของเด็ก เอาแต่บ่น ตำหนิ และทำโทษ  ส่งเสริมให้พ่อแม่ผู้ปกครองและเด็กมีความ
สัมพันธ์ที่ดีต่อกัน 
 
 
 
 

 




รอบรู้เรื่องสุขภาพจิตเด็ก

หนูถูกแกล้ง
เด็กเรียนหนังสือไม่เก่ง
หนูไม่อยากไปโรงเรียน
เด็กพูดโกหก
เด็กก้าวร้าว



Copyright © 2011 All Rights Reserved.
Department of Psychiatry, Faculty of Medicine, Chulalongkorn University BANGKOK 10330
Tel: (662) 256-4000-61509