ReadyPlanet.com
dot dot




เด็กพูดโกหก

เด็กพูดโกหก 
 

 
 

เมื่อไรจึงจะเรียกว่า “เด็กโกหก”?
         แม้พฤติกรรมโกหกของเด็ก จะเป็นพฤติกรรมที่พ่อแม่รับไม่ได้ แต่ถ้าเจอลูกโกหก ควรพิจารณาก่อนว่า พฤติกรรมนั้นเป็นไปตามพัฒนาการของเด็กหรือเปล่า ถ้าพฤติกรรมนั้นเกิดในเด็กเล็กๆ ที่เพิ่งพูดได้ไม่นาน หรือเด็กอายุ 2-3 ขวบ ซึ่งเด็กอาจจะยังไม่เข้าใจหรือแยกแยะความจริงกับจินตนาการได้อย่างชัดเจน เด็กอาจจะพูดในสิ่งเด็กนึกขึ้นมาโดยไม่ได้ตรวจสอบกับโลกความเป็นจริง ก็ถือเป็นเรื่องปกติตามพัฒนาการ และควรหลีกเลี่ยงการใช้คำว่า “เด็กโกหก”
        แต่ถ้าพฤติกรรมเหล่านั้น เกิดขึ้นในเด็กโต อายุประมาณ 7 ขวบขึ้นไป ซึ่งสามารถเข้าใจโลกแห่งความเป็นจริงได้ดีแล้ว ก็ถือว่าเป็นพฤติกรรมโกหก แต่ก็เป็นแค่พฤติกรรมหนึ่งที่เด็กแสดงออกมา ความเข้าใจว่าเพราะอะไรเด็กจึงไม่สื่อสารให้ตรงกับความจริงเป็นเรื่องจำเป็นมากกว่าจะตัดสินว่าเป็นเด็กดีหรือเด็กไม่ดี
 

ทำไมเด็กจึงโกหก?
 1. เด็กบางคนโกหกเพื่อเอาตัวรอด หรือเพื่อหลบเลี่ยงการถูกลงโทษเมื่อตนเองทำอะไรผิดพลาด เช่น ไม่ได้ทำการบ้าน หรือทำของเสียหาย 
 2. เด็กบางคนต้องการได้รับความสนใจจากพ่อแม่ หรือคนอื่นๆ ก็อาจเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เด็กสร้างเรื่องเล่าให้เหนือคนอื่น ทั้งที่จริงๆ แล้วไม่ได้เป็นเช่นนั้น
 3. เด็กบางคนโกหกเพื่อหวังผลประโยชน์อะไรบางอย่าง หรือเพื่อกลั่นแกล้งผู้อื่น ซึ่งถือว่ามีความรุนแรงกว่ากรณีอื่นๆ พ่อแม่จะต้องประเมินว่าเด็กมีพฤติกรรมเกเรอื่นๆ ร่วมด้วยหรือไม่ เช่น การลักขโมย พฤติกรรมก้าวร้าว ทำร้ายผู้อื่น หรือละเมิดกฎเกณฑ์ของสังคมในรูปแบบอื่นๆ ซึ่งบ่งชี้ว่าเด็กอาจมีโรคทางจิตเวชอย่างอื่นร่วมด้วย 
 

เด็กโกหกจัดว่าป่วยทางจิตหรือไม่?

       คนเราคงเคยพูดโกหกบ้างบางครั้งตอนเด็กๆ แต่เด็กที่โกหกบ่อยๆมักบ่งชี้ถึงปัญหาทางสุขภาพจิตบางอย่าง ซึ่งอาจยังไม่ถึงขั้นป่วยเป็นโรคใดๆ แต่เราอาจพบโรคทางจิตเวชบางโรคในเด็กกลุ่มนี้คือ
1. โรคสมาธิสั้น เด็กสมาธิสั้นอาจจะเรียนได้ไม่ดี ไม่ได้ทำการบ้านส่ง เด็กจึงอาจจะโกหกเพื่อให้พ้นความผิด
2. โรคพฤติกรรมผิดปกติ (conduct disorder) เด็กอาจจะมีพฤติกรรมลักขโมย ก้าวร้าว เช่น รังแกสัตว์ ชอบเล่นไฟหรือเล่นอะไรรุนแรง  ทำร้ายผู้อื่น หนีโรงเรียน หนีออกจากบ้าน ร่วมกับมีพฤติกรรมโกหกหลอกลวง 
  

พ่อแม่ควรจะทำอย่างไรกับเด็กโกหก?
      ในกรณีที่เด็กเล็กๆ เล่าเรื่องไปตามความคิดหรือตามจินตนาการของตนเอง พ่อแม่ก็ควรจะบอกเด็กว่า “อันนี้ไม่ใช่นะ” หรือ “อันนี้ไม่ตรงตามความเป็นจริงนะ” และพยายามแก้ไขให้ตรงตามความเป็นจริง อย่าเพิ่งโกรธหรือกังวลไปว่าโตขึ้นจะเป็นเด็กไม่ดี ส่วนในกรณีเด็กโตที่โกหก พ่อแม่ก็ต้องแก้ไขให้ตรงตามความเป็นจริง เช่น “สิ่งที่พ่อ(แม่)รู้มามันไม่ใช่อย่างนี้นะ” แล้วค่อยๆสื่อสารทำความเข้าใจกับลูกอย่างใจเย็น เหตุผลของการที่เด็กไม่พูดจริงอาจไม่ใช่เรื่องเลวร้ายก็เป็นได้ เช่น อาจกลัวพ่อแม่เสียใจ อาจโกหกเรื่องการใช้เงินเพราะเอาเงินไปทำเรื่องดีๆบางเรื่อง 
      แต่ถ้าเด็กโกหกซ้ำๆ ถือเป็นพฤติกรรมในทางลบอย่างหนึ่ง พ่อแม่ควรจะลงโทษเหมือนพฤติกรรมที่ไม่ดีอื่นๆ ลงโทษไปตามเหตุผล ไม่ใช่ลงโทษตามอารมณ์พ่อแม่ (เพราะเด็กจะเรียนรู้ว่าคนเราควรทำอะไรตามอารมณ์) โดยใช้วิธีการที่ไม่รุนแรง และควรหลีกเลี่ยงการตี การลงโทษนั้นอาจจะมีการลดโทษลงบ้าง แต่ไม่ควรยกเว้นโทษ เด็กจะไม่เรียนรู้การรับผิดชอบ ว่าต้องรับผลของการกระทำที่ตนเลือก ส่วนในเด็กที่ทำผิดแล้วมาสารภาพทีหลัง พ่อแม่ต้องเข้าใจ แสดงความชื่นชมที่เด็กทำผิดแล้วมาสารภาพ ถึงแม้ความผิดนั้นจะต้องถูกลงโทษตามปกติ แต่ก็ต้องชมด้วยว่าที่เด็กยอมรับความจริงนั้นเป็นสิ่งที่ดี ถ้าผู้ปกครองมีปฎิกิริยาที่รุนแรง เช่น ดูผิดหวังรุนแรง ตำหนิติเตียนยืดยาว หรือโกรธมากแล้วลงโทษรุนแรง แทนที่เด็กจะกลัวไม่ทำอีก อาจยิ่งทำให้โอกาสหน้าเด็กกลับจะต้องปิดบังความจริงมากขึ้น ควรหาทางแสดงให้เด็กเห็นว่า ทางบ้านยอมรับความจริงได้ พูดความจริงแล้วปลอดภัย ไม่โดนอะไร  เด็กจะได้สื่อสารความจริง



รอบรู้เรื่องสุขภาพจิตเด็ก

หนูถูกแกล้ง
เด็กเรียนหนังสือไม่เก่ง
หนูไม่อยากไปโรงเรียน
เด็กก้าวร้าว
เด็กดื้อ



Copyright © 2011 All Rights Reserved.
Department of Psychiatry, Faculty of Medicine, Chulalongkorn University BANGKOK 10330
Tel: (662) 256-4000-61509