ReadyPlanet.com
dot dot




บุคลิกภาพ 16 PF

 

 บุคลิกภาพ16 PF

บุคลิกภาพ16 PF  ที่สร้างขึ้นโดย เรย์มอน บี แคทแทลและเรียบเรียงเป็นภาษาไทยโดยประภา เชื้อภักดี นำมาหาความตรงและเทียบเคียงความหมายให้ตรงกับข้อคำถามเดิมมากที่สุดและมีการปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมและสอดคล้องกับวัฒนธรรมไทยและความเป็นอยู่แบบไทยโดยมีคำถามทั้งหมด 187 ข้อต่อมาในปี พ.. 2533  คณะนักจิตวิทยา กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุขได้ปรับปรุงและเรียบเรียงข้อคำถามบางข้อในแบบทดสอบนี้ให้เหมาะสมถูกต้องเพื่อให้มีความตรงมากขึ้น

การตรวจสอบคุณภาพเครื่องมือและการแปลผล

ความเที่ยง (Reliability) คือความสามารถของแบบทดสอบที่ทดสอบซ้ำในกลุ่มเดิมและ ทดสอบในระยะเวลาที่ต่างกัน ผลการทดสอบทั้งสองครั้งก็ยังคงเดิม

                    ฮอล และ ลินเซย์ [28]( Hall and Lindzey , 1970: 390 อ้างถึงในกุลธิดา รงค์จิตประภัสร์ , 2535 : 40  )ได้ทำการศึกษาเพื่อหาความเที่ยงโดยวิธิหาค่าสัมประสิทธ์แบบแบ่งครึ่ง (split –half) ได้ค่าเฉลี่ยเท่ากับ 0.8.

                   ประภา  เชื้อภักดี [24] ( 2526 ) ได้หาค่าความเที่ยงโดยวิธิการทดสอบซ้ำ ( test-retest ) กับกลุ่มพยาบาลประจำการที่ทำงานในแผนกอายุรกรรม  ศัลยกรรม สูตินรีเวชกรรม และกุมารเวชกรรมโรงพยาบาลรามาธิบดี  จำนวน  30 คนโดยใช้สูตรสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ของเพียร์สันได้ค่าความเที่ยงขององค์ประกอบบุคลิกภาพทั้ง  16  ด้านดังนี้

                    องค์ประกอบ A  =  .88    ,   องค์ประกอบ  B   =  .69    ,     องค์ประกอบ  C  = .67

                    องค์ประกอบ E  =  .80     ,   องค์ประกอบ F   =   .65    ,     องค์ประกอบ  G  = .81

                    องค์ประกอบ H =  .88     ,    องค์ประกอบ I   =   .64    ,      องค์ประกอบ L = .79

                    องค์ประกอบ M =   .83   ,    องค์ประกอบ   N = .65      ,     องค์ประกอบ O = .86

                    องค์ประกอบ  Q1 = .61   ,    องค์ประกอบ   Q2 = .80   ,     องค์ประกอบ Q3 = .82

                    องค์ประกอบ  Q4 = .78

                  เกณฑ์ปกติ ( Norms )   

           แคทเทลได้สร้างเกณฑ์ปกติของแบบทดสอบบุคลิกภาพ  16 PF  เพื่อให้ทราบว่าผู้รับการทดสอบแต่ละคนมีคะแนนอยู่ในตำแหน่งใดเมื่อเทียบกับกลุ่มโดยคำนึงถึงสถานภาพทางสังคม ภูมิภาค  อายุ เขตชนบทและเขตเมืองของกลุ่มตัวอย่างซึ่งเป็นประชากรชาวอเมริกันโดยมีรายละเอียดดังนี้

1.          การสร้างเกณฑ์ปกติแยกตามฟอร์ม  A ,B ,C, D  และ E

2.          การสร้างเกณฑ์ปกติโดยรวมฟอร์มต่างๆซึ่งไม่ใช่การหาค่าเฉลี่ยของแต่ละฟอร์มได้แก่ ฟอร์ม ( A+B ) และ ( C+D )

3.          การสร้างตารางปกติจำแนกตามเพศ โดยเป็นตารางปกติสำหรับเพศชาย ตารางเกณฑ์ปกติสำหรับเพศหญิง และตารางเกณฑ์ปกติที่ไม่ได้จำแนกเพศ

4.          การสร้างตารางเกณฑ์ปกติจำแนกตามอายุ  ได้แก่

     4.1  กลุ่มนักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลาย มีอายุมาตรฐาน (standard age)ระหว่าง 17 – 19 ปี

        4.2  กลุ่มนักศึกษาระดับมหาวิทยาลัย มีอายุมาตรฐาน ( standard age  ) ระหว่าง 20 –29ปี

         4.3 กลุ่มประชากรทั่วไป มีอายุมาตรฐาน  ( standard age  ) ตั้งแต่  30 ปีขึ้นไป

             ข้อดีของแบบทดสอบ  16 PF

           แบบทดสอบบุคลิกภาพแบบ  16 PF    เป็นแบบทดสอบที่ได้รับความสนใจอย่างกว้างขวางและมีการนำไปใช้ในหลายวงการ  เช่น  วงการจิตเวช   วงการศึกษา  และวงการธุรกิจ เป็นต้นเนื่องจากแบบทดสอบนี้มีจุดเด่น 3  ประการคือ

1.       เป็นแบบทดสอบที่สามารถวัดองค์ประกอบบุคลิกภาพของบุคคลได้ถึง 16 ด้าน( primary factor )และ 8 ประเภท

      ของบุคลิกภาพ( second –order factor)

2.       มีการให้คะแนนอย่างเป็นระบบและมีหลักเกณฑ์ในการแปลความหมาย

3.       สามารถทำการทดสอบได้ทั้งรายบุคคลและแบบกลุ่มและ สามารถตรวจให้คะแนนและแปลความหมายด้วยมืหรือ ตรวจด้วยคอมพิวเตอร์ได้

แบบทดสอบ16 PF  ฟอร์ม A เป็นฟอร์มมาตราฐานสำหรับผู้ใหญ่ใช้สำหรับบุคคลที่มีอายุตั้งแต่ 16 ปีขึ้นไปประกอบด้วยข้อคำถามทั้งหมดจำนวน 187 ข้อ เวลาที่ใช้ประมาณ 50 นาทีมีองค์ประกอบของบุคลิกภาพ 16 ด้านโดยใช้อักษรภาษาอังกฤษเป็นสัญลักษณ์ในแต่ละองค์ประกอบตั้งแต่ A  ถึง Q4ซึ่งเรียกว่า  Primary factors ดังนี้

องค์ประกอบ A :

 เก็บตัว(Reserved) -    ปรับตัวเข้ากับผู้อื่นได้ง่าย  ( outgoing )

องค์ประกอบ  B :

 ไม่ค่อยฉลาดคิดแบบรูปธรรม (Concrete)   -  ฉลาด  คิดแบบนามธรรม ( abstract )

องค์ประกอบ C :

 อารมณ์เปลี่ยนแปลงง่าย(Emotionally less stable) -   อารมณ์มั่นคง (emotionally stable)

องค์ประกอบ E :

สมยอม ถ่อมตน (humble ) -    กล้าแสดงออก(assertive)

องค์ประกอบ F :

สุขุม จริงจัง(sober) -    ทำตัวตามสบาย(happy go lucky )

องค์ประกอบ G :

ทำตามใจตนเอง (disregards rules)  -   มีคุณธรรม( conscientious)

องค์ประกอบ H :

ขี้อาย ประหม่า( shy, timid )  -    กล้าหาญและกล้าเสี่ยง (venturesome)

องค์ประกอบ I :

จิตใจเข้มแข็ง (tough-minded)  -  จิตใจอ่อนไหว(tender-minded)

องค์ประกอบ L :

ไว้วางใจ(trusting)  -    ช่างสงสัย(suspicious)

องค์ประกอบ M :

ลงมือปฏิบัติ(practical)  -      สร้างจิตนาการ(imaginative)

องค์ประกอบ N :

จริงใจ ไม่เสแสร้ง(unpretentious)  -   มีทักษะทางสังคม(astute,socially aware)

องค์ประกอบ O:

จิตใจสงบมั่นคง(self-assured)  -       จิตใจหวั่นไหวไม่มั่นคง(worrying , insecure)

องค์ประกอบ Q1 :

อนุรักษ์นิยม(conservative)  -    อิสระและเสรีนิยม(free thinking, liberal)

องค์ประกอบ Q2 :

พึ่งพิงกลุ่ม(group dependence)  -     พึ่งตนเอง(self sufficient)

องค์ประกอบ Q3 :

ขาดกฎเกณฑ์และวินัยในตนเอง(undisciplined,self conflict)  -   มุ่งมั่นและควบคุม

ตนเอง(exacting will power , controlled)

องค์ประกอบ Q4:

ผ่อนคลาย ไม่คับข้องใจ(relax , unfrustrated) -    ตึงเครียด  คับข้องใจ(tense,frustrated)

 

นอกจากนี้แคทเทลยังได้จัดกลุ่มองค์ประกอบบุคลิกภาพที่มีความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกันเรียกว่า second-order factors  หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า global factors ซึ่งช่วยให้ทราบว่าบุคคลนั้นมีแนวโน้มที่จะแสดงออกหรือมีบุคลิกภาพโดยรวมเป็นอย่างไรเมื่อต้องเผชิญกับสถานการณ์หรือสิ่งเร้าที่มากระตุ้นประกอบด้วย

Extraversion:

การแสดงตัวและกล้าแสดงออกในสังคมประกอบด้วยคะแนนองค์ประกอบบุคลิกภาพ  

A,F,H สูงและคะแนนขององค์ประกอบบุคลิกภาพQ2 ต่ำ

Anxiety:

ความวิตกกังวลประกอบด้วยคะแนนองค์ประกอบบุคลิกภาพ  L,O และ Q4สูงและ

คะแนนขององค์ประกอบบุคลิกภาพ C,H,Q3 ต่ำ

Tough poise:

จิตใจเข้มแข็งและหนักแน่นประกอบด้วยคะแนนองค์ประกอบบุคลิกภาพ  F สูงและคะแนนขององค์ประกอบบุคลิกภาพ A,I,M ต่ำ

Independence:

การเป็นตัวของตัวเองประกอบด้วยคะแนนองค์ประกอบบุคลิกภาพ E,H,Q1และQ2สูง

และคะแนนขององค์ประกอบบุคลิกภาพ G ต่ำ

Control:

การควบคุมตนเองประกอบด้วยคะแนนองค์ประกอบบุคลิกภาพ Gและ Q3 สูง

Adjustment:

การปรับตัวประกอบด้วยคะแนนขององค์ประกอบบุคลิกภาพ B,C,E,F,G และ Q1 สูง

และคะแนนขององค์ประกอบบุคลิกภาพ H,I,O และ Q4 ต่ำ

Leadership:

ความเป็นผู้นำประกอบด้วยคะแนนขององค์ประกอบบุคลิกภาพ B,C,E,F,G ,H,Nและ  

Q3 สูง และคะแนนขององค์ประกอบบุคลิกภาพ I,M,O และ Q4 ต่ำ

Creativity:

ความคิดสร้างสรรค์ประกอบด้วยคะแนนขององค์ประกอบบุคลิกภาพ B,E,H,I,M,Q1

และ Q2 สูง และคะแนนขององค์ประกอบบุคลิกภาพ A,F และ N ต่ำ

 

นอกจากนี้แคทเทลยังได้สร้างมาตรฐานสำหรับวัดอคติในการตอบแบบทดสอบนี้อีกด้วยได้แก่ faking good scale , faking bad scale  และ random answering scale

faking good scale หรือ  motivational  distortion  scale คือการตอบเพื่อที่จะให้ตนเองมีบุคลิกภาพที่พึงประสงมากกว่าความเป็นจริงเป็นการแสร้งตอบเพื่อให้ตนเองดูดีกว่าความเป็นจริงจากจำนวนข้อทดสอบทั้งหมด 187 ข้อมีข้อที่วัด faking good scale จำนวน 14 ข้อแต่ละข้อมีค่าคะแนนเท่ากับ 1

faking bad scale  คือการตอบเพื่อให้ตนเองมีบุคลิกภาพไม่เป็นที่ประสงค์กว่าความเป็นจริงซึ่งเป็นการแสร้งตอบเพื่อให้ตนเองไม่ดีจากจำนวนข้อทดสอบทั้งหมด 187 ข้อมีข้อที่วัด faking bad scale  จำนวน 15ข้อ แต่ละข้อมีค่าคะแนนเท่ากับ 1

random answering scale คือการตอบเดาสุ่มผู้รับการทดสอบที่ตอบเดาสุ่มมักตอบแบบ infrequent มากกว่าคนที่ตอบอย่างซื่อสัตย์จากจำนวนข้อทดสอบทั้งหมด 187 ข้อมีข้อที่วัดการตอบเดาสุ่มจำนวน31ข้อการนับคะแนนจะนับจากข้อที่ตอบและไม่ตอบถ้าได้คะแนนดิบตั้งแต่ 5 ข้อขึ้นไปเป็นที่น่าสังเกตว่าผู้รับการทดสอบอาจจะตอบแบบเดาสุ่มและถ้านับคะแนนดิบ

ได้ตั้งแต่ 12 ขึ้นไปถือว่าผู้รับการทดสอบตอบอย่างเดาสุ่มแน่นอนและต้องคำนึงถึงด้วยว่าผู้ทดสอบเข้าใจคำแนะนำในการตอบแบบทดสอบหรือไม่อย่างไร

 

การให้คะแนนแบบทดสอบบุคลิกภาพแบบ  16 PF   ฟอร์ม A

การให้คะแนนโดยตรวจเครื่องหมายกากบาทในแต่ละข้อและให้คะแนนโดยใช้คำเฉลยจากคู่มือ

แบบทดสอบซึ่งแต่ละข้อมีคำตอบ 3 คำตอบคือ ใช่   ไม่แน่ใจ  ไม่ใช่  โดยให้ผู้ตอบเลือกคำตอบที่ตรงกับความคิดของตัวเองและความรู้สึกของตัวเองให้มากที่สุดเพียงคำตอบเดียวแต่ละข้อมีคะแนนได้ตั้งแต่  0 , 1 , 2  หรือ  2 , 1, 0  ของแต่ละองค์ประกอบของบุคลิกภาพทั้ง 16  ด้านยกเว้นองค์ประกอบ  B  ซึ่งมีคะแนนเท่ากับ 0 ,1 หรือ 1, 0  นอกจากนี้ยังมี faking good scale , faking bad scale  และ random answering scale โดยแต่ละข้อมีคะแนน 0 ,1  โดยคำตอบที่ถูกจะต้องได้คะแนนเท่ากับ 1 คำตอบที่ผิดจะได้คะแนนเท่ากับ  0

 

หลักเกณฑ์ในการแปลผล

การแปลผลจะต้องพิจารณาจากคะแนนสูงหรือต่ำประกอบกับความหมายขององค์ประกอบบุคลิกภาพคือ

1.       พิจารณาคะแนนมาตรฐาน (sten  score) ซึ่งได้มาจากการแปลงคะแนนดิบ(raw score)โดยเทียบคะแนนตามตารางปกติก็จะทำให้ทราบว่าผู้รับการทดสอบได้คะแนนสูงต่ำดังนี้

                                           ๏  ผู้ที่ได้คะแนนมาตรฐาน 1,10  หมายถึง มีลักษณะบุคลิกภาพในองค์ประกอบ

                                     นั้นๆสูงหรือต่ำอย่างเต็มที่ ตัวอย่างเช่น

-                   ผู้ที่ได้คะแนนมาตรฐานในองค์ประกอบบุคลิกภาพ  A เท่า  1 มีลักษณะชอบแยกตัว  ปรับตัวยาก

-                   ผู้ที่ได้คะแนนมาตรฐานในองค์ประกอบบุคลิกภาพ  A เท่า  10 มีลักษณะชอบสังคม ปรับตัวง่าย

                              ๏  ผู้ที่ได้คะแนนมาตรฐาน  2,3,8,9    หมายถึง  มีลักษณะบุคลิกภาพใน

      องค์ประกอบนั้นๆค่อนข้างไปทางสูงหรือต่ำเป็นอย่างมากตัวอย่างเช่น

-                   ผู้ที่ได้คะแนนมาตรฐานในองค์ประกอบบุคลิกภาพ  A เท่า  2,3 มีลักษณะค่อนข้างแยกตัวและ  ปรับตัวยาก

-                   ผู้ที่ได้คะแนนมาตรฐานในองค์ประกอบบุคลิกภาพ  A เท่า  8,9  มีลักษณะค่อนข้างชอบสังคมและ ปรับตัวง่าย

                                ๏  ผู้ที่ได้คะแนนมาตรฐาน 4,7  หมายถึง มีลักษณะบุคลิกภาพในองค์ประกอบ

                         นั้นๆมีแนวโน้มสูงหรือต่ำเพียงเล็กน้อยตัวอย่างเช่น

-                   ผู้ที่ได้คะแนนมาตรฐานในองค์ประกอบบุคลิกภาพ  A เท่ากับ  4  มีแนวโน้มที่จะชอบแยกตัวและ ปรับตัวยาก

-                    ผู้ที่ได้คะแนนมาตรฐานในองค์ประกอบบุคลิกภาพ  A เท่ากับ  7  มีแนวโน้มที่จะชอบสังคมและ ปรับตัวง่าย

                              ๏  ผู้ที่ได้คะแนนมาตรฐาน 5,6  หมายถึง มีลักษณะบุคลิกภาพในองค์ประกอบ

                         นั้นๆปานกลางเหมือนคนส่วนใหญ่ ( average) ตัวอย่างเช่น

-                   ผู้ที่ได้คะแนนมาตรฐานในองค์ประกอบบุคลิกภาพ  A เท่ากับ  5 หรือ 6  มีลักษณะกลางๆคือไม่ถึงกับมีแนวโน้มชอบสังคมหรือแยกตัว

 

2.       พิจารณาความหมายของแต่ละองค์ประกอบบุคลิกภาพ  (primary factors)ตามคู่มือการทดสอบ

3.       พิจารณากลุ่มองค์ประกอบของบุคลิกภาพที่มีความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกันที่เรียกว่า second-order factors ซึ่งมีทั้งหมด 8 ด้านตามคู่มือการทดสอบมาตรฐาน ได้แก่  extraversion ,anxiety ,tough poise , independence ,control , adjustment ,leadership และ creativity







Copyright © 2011 All Rights Reserved.
Department of Psychiatry, Faculty of Medicine, Chulalongkorn University BANGKOK 10330
Tel: (662) 256-4000-61509