ReadyPlanet.com
dot dot




กิจกรรมสุขภาพจิตชุมชน ปีการศึกษา 2565 (ภาคนอกเวลาราชการ)

 

โครงการสุขภาพจิตชุมชุน “ความสุขครู ความสุขหนู” 


1. ชื่อโครงการ ความสุขครู ความสุขหนู

2. ผู้รับผิดชอบโครงการ นิสิตปริญญาโท ชั้นปีที่ 2 (ภาคนอกเวลาราชการ)

3. หลักการและเหตุผล 

            อาชีพครูเป็นอาชีพในหลายอาชีพที่ถูกคาดหวังความสำเร็จในการปฏิบัติงานสูง  ทั้งความสำเร็จในการสอนนักเรียน  การประพฤติตนเป็นแบบอย่างที่ดี  การเป็นที่พึ่งให้แก่ชุมชน  การสนับสนุนให้ครูเป็นต้นแบบทั้งในการทำงานและการดำเนินชีวิตประจำวันดังคำกล่าวที่ว่า แม่พิมพ์ของชาติ ตามแนวคิดของ Elton  Mayo ต้องส่งเสริมให้ครูมีทั้งสิ่งแวดล้อมในการทำงานที่ดี  ได้รับค่าตอบแทนที่พอเพียง มีแรงจูงใจในการทำงาน หรืออาจกล่าวว่า  ครูควรได้รับการสนับสนุนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี  ทั้งคุณภาพชีวิตในการทำงาน  และคุณภาพชีวิตในการดำเนินชีวิตประจำวัน  โดยเป็นการส่งเสริมทั้งด้านร่างกายและจิตใจ อย่างไรก็ตาม  การส่งเสริมให้ครูมีคุณภาพชีวิตที่ดีเป็นเรื่องยาก  เนื่องจากครูมีพื้นฐานชีวิตและความต้องการแตกต่างกัน Grey Bognar (2005)  กล่าวว่า การศึกษาความเหมาะสมของปัจจัยหรือแนวทางการพัฒนาคุณภาพชีวิต  เพื่อนำไปสู่ข้อเสนอแนะหรือแนวทางการปรับปรุงคุณภาพชีวิตต้องให้ความสำคัญต่อเงื่อนไขของชีวิต (People s life conditions)  ดังนั้นการศึกษาเพื่อหาแนวทางการพัฒนาคุณภาพชีวิตครูต้องทำความเข้าใจบริบทและเงื่อนไขการทำงานและการใช้ชีวิตของครูด้วย

         สุขภาพจิต เป็นองค์ประกอบหนึ่งของสุขภาพดังนิยามขององค์การอนามัยโลกที่ให้ความหมายว่า สุขภาพเป็นภาวะที่สมบูรณ์พร้อมของร่างกาย จิตใจและความเป็นอยู่ในสังคม สุขภาพจิตมีความสำคัญและส่งผลต่อการปรับตัวในการดำรงชีวิตประจำวัน  การอยู่ร่วมกันในสังคมรวมถึงการประกอบวิชาชีพเป็นอย่างมาก  โดยเฉพาะอย่างยิ่งสุขภาพจิตของครูเพราะอาชีพครูก็เป็นอาชีพหนึ่งที่สำคัญในการพัฒนาประเทศชาติ  อีกทั้งสังคมไทยได้ให้ความคาดหวังสูงกับผู้ที่เป็นครู  ครูจึงต้องพยายามดำรงตนให้ดีสมดังที่สังคมให้ความเคารพยกย่องว่าเป็นปูชนียบุคคล เป็นแม่พิมพ์ของชาติ  เป็นวิชาชีพที่จรรโลงสังคมให้เป็นไปในทางที่สังคมปรารถนาและถือว่าเป็นวิชาชีพที่มีเกียรติ บทบาทในการปฏิบัติหน้าที่ของครูในปัจจุบันจึงมีหลายด้านที่ต้องปฏิบัติตามที่ผู้บริหารสถานศึกษามอบหมายซึ่งอาจจะมีทั้งสิ่งที่ตนเองถนัดและไม่ถนัด เช่น เป็นนักวิชาการที่ต้องพัฒนาตนเองให้สามารถปฏิบัติหน้าที่ด้านการเรียนการสอนอย่างมีประสิทธิภาพ การสนับสนุนด้านการจัดการเรียนรู้เพื่อพัฒนานักเรียนทั้งภายในและภายนอกโรงเรียน การประเมินผลนักเรียนอย่างต่อเนื่อง เป็นนักจิตวิทยาที่ต้องทำหน้าที่ให้คำปรึกษาแนะแนวทางที่ดีแก่นักเรียน  ผู้ปกครองและประชาชนในชุมชน  ต้องดูแลด้านระเบียบวินัยแก่นักเรียนให้ปฏิบัติตามกฎระเบียบของโรงเรียนและระเบียบของกระทรวงศึกษาธิการที่กำหนดไว้ นอกจากนี้ยังเป็นผู้นำด้านการประสานงานและการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ในชุมชน เป็นต้น ครูจึงต้องเผชิญกับสภาวะต่างๆ หลายอย่างทั้งที่ทำให้มีความพึงพอใจ และไม่พึงพอใจในการประกอบวิชาชีพครู  ส่งผลกระทบต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้  เมื่อครูหลายคนต้องสอนในวิชาที่ไม่ตรงตามวิชาเอกที่ตนเองจบมา  เนื่องจากปัญหาการขาดแคลนอัตรากำลังหรืองบประมาณสนับสนุนก็ตาม  ทำให้ครูเกิดความเครียดสะสมและไม่มีความสุขในการทำงานส่งผลให้การสอนดำเนินไปแบบไม่เต็มประสิทธิภาพ ภาระงานของครูที่รับผิดชอบต้องมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับนักเรียนโดยตรง หากครูมีสุขภาพจิตดีก็สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างมีความสุขมีการปฏิบัติต่อนักเรียนได้ดี  สามารถปฏิบัติงานด้านการเรียนการสอนให้นักเรียนมีความเจริญเติบโตทุกด้านสามารถพัฒนาบุคลิกภาพและการปรับตัวได้ดี ส่วนครูที่มีปัญหาสุขภาพจิตสังเกตได้จากการมีความสัมพันธ์ที่ไม่ดีทั้งกับนักเรียน เพื่อนร่วมงาน ผู้บริหารสถานศึกษา บุคคลในครอบครัวและคนอื่น ๆ ในชุมชนที่มีความเกี่ยวข้อง เช่น การที่ครูมักแสดงอาการหงุดหงิดง่าย  แสดงอารมณ์ฉุนเฉียว ระงับอารมณ์ไม่อยู่เวลาโกรธ พูดจาเยาะเย้ยถากถาง ใช้ถ้อยคำหยาบคาย ประชดประชันนักเรียน ใช้วิธีการลงโทษนักเรียนแบบรุนแรงหรือวิตถาร ขาดเหตุผลไตร่ตรองโดยเฉพาะกับนักเรียนที่มีปัญหาทั้งจากทางบ้านและโรงเรียน คอยจับผิดนักเรียน ซึ่งสอดคล้องกับคำกล่าวของลิขิต กาญจนาภรณ์ (2553) ที่ว่ามีครูอยู่เป็นจำนวนมากที่มีปัญหาในการปรับตัวและจำเป็นต้องได้รับการบำบัดทางจิต  สามารถสังเกตได้จากการแสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมหลายประการ เช่น ครูที่ลงโทษนักเรียนด้วยความรุนแรง ครูมีพฤติกรรมทางเพศกับนักเรียน ซึ่งมีความผิดทั้งทางจรรยาบรรณและทางกฎหมาย ครูที่หันไปพึ่งเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จนกลายเป็นโรคพิษสุราเรื้อรัง  การพึ่งพายานอนหลับเวลามีความเครียดหรือวิตกกังวล  และครูที่มีปัญหาบุคลิกภาพต่าง ๆ รวมทั้งปัญหาชู้สาว การมีอาการของโรคประสาท ครูเหล่านี้เมื่อออกมาปฏิบัติงานในชีวิตประจำวันก็จะนำเอาปัญหาส่วนตัวมาระบายกับนักเรียน  ทำให้ประสิทธิภาพการสอนลดลง ปฏิบัติสัมพันธ์กับนักเรียนและเพื่อนร่วมงานเสียไปรวมทั้งมีปัญหาทางวินัยอีกด้วย

       โรคร้ายอันตรายที่เกี่ยวกับอาชีพครูนั้น มีรายงานจากศูนย์เวชศาสตร์อายุรวัฒน์นานาชาติ (2556) พบว่ามี 5 โรคด้วยกันคือ 1)โรคเครียด ที่มาจากการต้องรับผิดชอบทั้งนักเรียนและงานของครูเอง ยิ่งถ้ายังมีแรงกดดันอยู่นานๆเช่นมีเรื่องส่วนตัวและครอบครัวด้วยก็อาจทำให้ครูประสบภาวะทางอารมณ์ได้ ซึ่งสอดคล้องกับการศึกษาของ The Health and Safety Executive in the United Kingdom พบว่าอาชีพครูเป็นอาชีพที่มีความเครียดมากที่สุดเมื่อเทียบกับอาชีพอื่นๆ (Smith et al.2000) 2)โรคอ้วน มาจากเรื่องรับประทานอาหาร ออกกำลังกายน้อยและความเครียด การเหนื่อยล้าของสมองกับร่างกายจะกระตุ้นให้การรับประทานมากขึ้น ส่งผลให้มีไขมันในเลือดสูง ความดันสูงและเบาหวานตามมา 3)โรคนอนดึก ครูหลายท่านมีพฤติกรรมนอนดึก กินดึกและอยู่ดึกซึ่งทำให้อ้วนง่าย เกิดกรดไหลย้อน หลับไม่ลึก หยุดหายใจขณะหลับ  4)โรคนอนไม่หลับ เกิดได้จากเรื่องวัยและงาน ครูที่เข้าวัยทองจะมีปัญหานี้มากแล้วส่งผลต่อการทำงานในตอนเช้า 5)โรคที่เกี่ยวกับการยืน เช่นข้อเข่าเสื่อม ปวดไขข้อ ริดสีดวง เกิดจากการที่ครูต้องยืนนานวันละหลายชั่วโมง

จากการที่นิสิตสาขาสุขภาพจิต ชั้นปีที่  2 ได้เข้าไปสัมภาษณ์แบบเชิงลึกร่วมกับการใช้แบบสอบถามกับตัวแทนครูจำนวน 30 คน เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2561 ณโรงเรียนแห่งหนึ่ง  พบว่า ครูมีภาวะเจ็บป่วยจากอาการปวดตามร่างกายจำนวน 28 คนคิดเป็นร้อยละ 94 ครูมีภาวะเครียด  จำนวน 25 คน คิดเป็นร้อยละ 85 ครูมีปัญหาเรื่องการสื่อสารจำนวน 17 คน คิดเป็นร้อยละ 56 ครูมีปัญหาการนอนจำนวน 12 คน คิดเป็นร้อยละ 40  และพบครูมีภาวะน้ำหนักเกินจำนวน 12 คนคิดเป็นร้อยละ 40 ตามลำดับ ซึ่งปัญหาดังกล่าวที่พบนั้นเป็นเหตุจูงใจให้เกิดโครงการความสุขครู ความสุขหนูขึ้น เพื่อส่งเสริมให้ครูได้รับความรู้และสามารถดูแลสุขภาพกายและสุขภาพจิตเบื้องต้นได้ด้วยตนเอง รวมถึงเปิดโอกาสให้ครูได้ร่วมค้นหามุมมองแนวคิดเชิงบวกต่อตนเอง ต่ออาชีพและต่อคนรอบข้างด้วย

 

ภาพกิจกรรม

 


 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 
 
 
 
 
 
 
 

 




ข่าวสารสำหรับนิสิตปัจจุบัน

โครงการศิลปะบำบัด
โครงการประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “Positive Psychology”
โครงการประชุมสัมมนา เรื่อง องค์ความรู้ ประสบการณ์ จากรุ่นสู่รุ่น สู่องค์กร แห่งการเรียนรู้
กิจกรรมนพลักษณ์
กิจกรรมการรู้จักและการพัฒนาศักยภาพตนเอง
กิจกรรมสุขภาพจิตชุมชน ปีการศึกษา 2565 (ภาคปกติ)
งานวิจัยระดับนานาชาติ
วิทยานิพนธ์ article
LOGO article
ค่าย YGC



Copyright © 2011 All Rights Reserved.
Department of Psychiatry, Faculty of Medicine, Chulalongkorn University BANGKOK 10330
Tel: (662) 256-4000-61509