ReadyPlanet.com
dot dot




โศกเศร้าจากการสูญเสีย


โศกเศร้าจากการสูญเสีย

 



 
               ประสบการณ์การสูญเสียเป็นส่วนหนึ่งของประสบการณ์ในช่วงชีวิตมนุษย์ที่ทุกคนเคยประสบ การสูญเสียนำมาซึ่งอารมณ์เศร้าโศกเสียใจ โดยเฉพาะการเสียชีวิตของบุคคลใกล้ชิดอันเป็นที่รัก อารมณ์เศร้าโศกจากการสูญเสียเป็นปฏิกิริยาทางจิตใจและกระบวนการทางจิตใจที่เกิดขึ้นตามปกติ ซึ่งคนส่วนใหญ่สามารถผ่านพ้นและกลับเข้าสู่กิจวัตรประจำวันตามเดิมโดยไม่มีความผิดปกติทางจิตใจเกิดขึ้น แต่ในบางรายอารมณ์เศร้าโศกนี้รุนแรงและยาวนานเกินปกติ ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของบุคคลนั้น เรียกว่า อารมณ์เศร้าโศกที่ผิดปกติต่อการสูญเสีย ซึ่งมักจะพบอยู่เสมอว่าผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้าหลายรายเคยมีประวัติการเสียชีวิตของบุคคลใกล้ชิดอันเป็นที่รัก โดยเฉพาะคู่สมรสหรือสมาชิกในครอบครัว

สาเหตุ
               ปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดอารมณ์เศร้าโศกที่ผิดปกติต่อการสูญเสีย ได้แก่ การประสบเหตุการณ์สะเทือนขวัญหรือภัยพิบัติที่รุนแรง การเสียชีวิตที่รวดเร็วกะทันหัน ไม่ทันคาดคิด หรือการเสียชีวิตที่ผิดธรรมชาติ เช่น จากอุบัติเหตุหรือการฆ่าตัวตาย รวมถึงการเสียชีวิตของบุตร นอกจากนั้นการที่บุคคลนั้นมีความรู้สึกผิดหรือรู้สึกว่าตนเองต้องรับผิดชอบต่อการเสียชีวิต มีความผูกพันใกล้ชิดหรือพึ่งพากับบุคคลที่เสียชีวิตอย่างมาก หรือมีความรู้สึกสองฝักสองฝ่ายกับบุคคลที่เสียชีวิต เช่น ทั้งรักทั้งโกรธ รวมถึงการขาดแหล่งสนับสนุนประคับประคองทางสังคมที่ดี ก็ส่งผลให้เกิดอารมณ์เศร้าโศกที่ผิดปกติได้เช่นกัน 

อาการ
               โดยปกติแล้ว ผู้ที่ประสบกับการสูญเสียจะมีปฏิกิริยาทางจิตใจต่อการสูญเสีย 3 ระยะ ซึ่งได้แก่ 1) ระยะมึนชา จะมีความรู้สึกตกใจ ไม่เชื่อ ปฏิเสธสิ่งที่เกิดขึ้น เกิดความรู้สึกมึนชา ใช้เวลา 2-3 ชั่วโมงถึง 2-3 สัปดาห์ แล้วตามมาด้วย 2) ระยะซึมเศร้า จะมีอารมณ์เศร้าโศก ร้องไห้ คร่ำครวญ ย้ำนึกถึงบุคคลที่เสียชีวิต ความอยากอาหารลดลง นอนไม่หลับ หรืออาจทำให้หน้าที่กิจวัตรตามปกติลดลงจากเดิมบ้าง ใช้เวลา 2-3 สัปดาห์ แล้วดีขึ้นเองในเวลา 2-4 เดือน โดยส่วนใหญ่มักจะไม่เกิน 6 เดือน แล้วเข้าสู่ระยะสุดท้าย คือ 3) ระยะกลับคืนสู่ปกติ กลับเข้าสู่กิจวัตรประจำวันตามปกติของบุคคลนั้น อารมณ์เศร้าโศกที่เป็นปกติต่อการสูญเสียไม่จัดว่าเป็นความผิดปกติทางจิตเวช สามารถดีขึ้นได้เองโดยไม่ต้องได้รับการรักษา แต่ในบางราย อารมณ์เศร้าโศกจากการสูญเสียมีความรุนแรงและยาวนานเกินปกติ เรียกว่า อารมณ์เศร้าโศกที่ผิดปกติต่อการสูญเสีย ก่อให้เกิดความผิดปกติทางด้านจิตใจ โดยเฉพาะอาการของโรคซึมเศร้า ลักษณะที่แสดงถึงอาการของโรคซึมเศร้าซึ่งเป็นผลมาจากอารมณ์เศร้าโศกที่ผิดปกติต่อการสูญเสีย มีดังนี้
           1. มีการโทษหรือตำหนิตัวเองอย่างมาก โดยจะมีความรู้สึกผิดเกินจริง เสียความเชื่อมั่นในตัวเอง โทษหรือตำหนิตัวเองว่าเป็นสาเหตุให้บุคคลนั้นเสียชีวิต
           2. มีความคิดหรือความตั้งใจจะฆ่าตัวตาย หรือมีการพยายามฆ่าตัวตาย
           3. มีลักษณะจิตใจและการเคลื่อนไหวที่เชื่องช้าหรือกระวนกระวาย ซึ่งเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงภาวะซึมเศร้าที่รุนแรง 
           4. มีอาการของโรคจิตที่ชัดเจน ได้แก่ อาการประสาทหลอน เช่น ได้ยินคนที่เสียชีวิตไปแล้วมาพูดคุยด้วยอยู่ตลอด รวมถึงอาการหลงผิด เช่น หลงผิดว่าตัวเองทำบาปกรรมในอดีตจึงถูกลงโทษ หรือมีคนจะมาปองร้ายเอาชีวิต

การรักษา
            วิธีการที่ช่วยให้ผู้ประสบกับการสูญเสียสามารถผ่านพ้นอารมณ์เศร้าโศกจากการสูญเสีย ได้แก่ การยอมรับการสูญเสียที่เกิดขึ้น การได้รับรู้และยอมรับความรู้สึกเจ็บปวดที่เกี่ยวข้องกับการสูญเสีย การได้พิจารณาและทบทวนความสัมพันธ์กับบุคคลที่เสียชีวิต ทั้งประสบการณ์ที่ดีและประสบการณ์ที่มีปัญหา ความสัมพันธ์ที่ดีและความสัมพันธ์ที่มีปัญหา รวมถึงความรู้สึกต่างๆทั้งด้านบวกที่มีต่อบุคคลที่เสียชีวิตนั้น เช่น ความรู้สึกชื่นชม พอใจ และความรู้สึกด้านลบที่มีต่อบุคคลนั้น เช่น ความรู้สึกผิดหวัง เสียใจ น้อยใจ ไม่พอใจ หรือความรู้สึกโกรธ และสามารถระบายอารมณ์ความรู้สึกต่างๆที่มีต่อบุคคลที่เสียชีวิตนั้น เพื่อให้เข้าใจได้ว่าความรู้สึกต่างๆเหล่านี้ที่มีต่อบุคคลที่เสียชีวิตเป็นเรื่องปกติธรรมดา และช่วยให้เข้าใจบุคคลที่เสียชีวิตและภาพความสัมพันธ์ที่มีต่อบุคคลที่เสียชีวิตอย่างครบถ้วนทุกด้าน ตรงตามความเป็นจริงมากยิ่งขึ้น นอกจากนั้นการที่ได้ถ่ายทอดประสบการณ์และระบายอารมณ์ความรู้สึกที่เกิดขึ้นให้บุคคลใกล้ชิดได้รับฟัง ก็จะช่วยให้เกิดความรู้สึกผ่อนคลายและได้รับการสนับสนุนประคับประคองจากบุคคลเหล่านั้นตามมา นอกจากนั้นยังควรพัฒนาความสัมพันธ์ใหม่ๆกับบุคคลรอบข้าง เพื่อช่วยทดแทนการสนับสนุนประคับประคองที่ผู้ป่วยเคยได้รับจากผู้เสียชีวิต ทั้งทางด้านจิตใจ อารมณ์ และสังคม ซึ่งทั้งหมดนี้จะส่งผลให้อารมณ์เศร้าโศกหรืออาการของโรคซึมเศร้าดีขึ้น ในกรณีที่มีอารมณ์เศร้าโศกจากการสูญเสียที่รุนแรงหรือมีอาการของโรคซึมเศร้า ควรไปพบจิตแพทย์เพื่อรับการดูแลรักษาไม่ว่าจะเป็นการรักษาด้วยยา เช่น ยารักษาซึมเศร้า หรือการรักษาด้วยจิตบำบัด เช่น จิตบำบัดสัมพันธภาพระหว่างบุคคล เป็นต้น
การป้องกันและดูแลตนเองเบื้องต้น
               การยอมรับกับการสูญเสียและความรู้สึกเจ็บปวดที่เกิดขึ้น สามารถมองภาพความสัมพันธ์กับบุคคลที่เสียชีวิตอย่างตรงตามความเป็นจริง สามารถถ่ายทอดประสบการณ์การสูญเสียให้บุคคลรอบข้างได้รับฟัง และมีแหล่งสนับสนุนประคับประคองทางสังคมที่ดี ซึ่งได้แก่ การมีสัมพันธภาพที่ดีกับบุคคลรอบข้าง และการมีทักษะสัมพันธภาพระหว่างบุคคลหรือทักษะทางสังคมที่ดี จะเป็นการลดความเสี่ยงของการเกิดอารมณ์เศร้าโศกที่ผิดปกติจากการสูญเสียและโรคซึมเศร้าที่เกี่ยวข้องกับการสูญเสีย

สรุป
              อารมณ์เศร้าโศกจากการสูญเสียเป็นสิ่งที่พบได้เป็นปกติหลังจากการสูญเสีย โดยเฉพาะการเสียชีวิตของบุคคลใกล้ชิดอันเป็นที่รัก บางครั้งอารมณ์เศร้าโศกนี้อาจรุนแรงจนเกิดอาการของโรคซึมเศร้า การยอมรับการสูญเสียและอารมณ์เจ็บปวดที่เกิดขึ้น การเข้าใจบุคคลที่เสียชีวิตและภาพความสัมพันธ์กับบุคคลที่เสียชีวิตอย่างครบถ้วน ตรงตามความเป็นจริง รวมถึงการมีสัมพันธภาพที่ดีกับบุคคลอื่นรอบข้าง จะช่วยให้สามารถผ่านพ้นอารมณ์เศร้าโศกจากการสูญเสีย และช่วยให้อาการของโรคซึมเศร้าที่เกี่ยวกับการสูญเสียดีขึ้น ในรายที่มีอาการรุนแรง ควรไปพบจิตแพทย์เพื่อรับการดูแลรักษาต่อไป
 

 




รอบรู้เรื่องสุขภาพจิตผู้สูงวัย

นอนไม่หลับ
ความจำเสื่อม



Copyright © 2011 All Rights Reserved.
Department of Psychiatry, Faculty of Medicine, Chulalongkorn University BANGKOK 10330
Tel: (662) 256-4000-61509